9 แผนงานภายใต้โครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นการเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำเหนือออกสู่ทะเล ลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจอันเกิดจากอุทกภัย และเพิ่มความมั่นคงในเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค
9 แผนงานเป็นผลจากการศึกษาโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างของกรมชลประทานที่ได้นำเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 มาใช้เป็นโจทย์ในศึกษา ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นพบว่า มีปริมาณน้ำเหนือที่ไหลหลากลงมากเกินปริมาณน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะลองรับได้เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทประมาณ 1,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ดังนั้นหากจะไม่ให้เหตุการณ์มหาอุทกภัยเกิดขึ้นอีก จำเป็นจะต้องหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำจำนวนดังกล่าว เพื่อระบายออกสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 9 แผนงานแบ่งออกเป็น
3 แผนงานโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย
1. แผนการสร้างคลองระบายน้ำควบคู่กับคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งจะสามารถระบายน้ำในช่วงน้ำหลากได้ถึง ประมาณ 900 ลบ.ม.ต่อวินาที ใช้งบในการก่อสร้างประมาณ 35,000 ล้านบาท
2. แผนการปรับปรุงโครงสร้างระบบชลประทานเดิมที่มีอยู่ ที่ระบายน้ำผ่านทางคลองระพีพัฒน์และคลองสาขาต่างๆ สามารถเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจากสูงสุดในปัจจุบันคือ 210 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 400 ลบ.ม.ต่อวินาที ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 62,000 ล้านบาท
3. แผนการก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่ จากแม่น้ำป่าสักลงสู่ทะเลโดยตรง สามารถระบายน้ำได้สูงสุดประมาณ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที
2 แผนงานในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย
1. แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำท่าจีน ซึ่งจะต้องมีการขุดคลองระบายน้ำหลาก(บายพาส) แม่น้ำท่าจีนบริเวญอ.โพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี ขุดช่องลัดแม่น้ำท่าจีนที่มีลักษณะเป็นกระเพาะหมูจำนวน 4 แห่ง และขุดลอกแม่น้ำท่าจีนตั้งแต่ กิโลเมตรที่ 40 จากปากแม่น้ำขึ้นมา ซึ่งจะสามารถเพิ่มการระบายได้จาก 464 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 535 ลบ.ม.ต่อวินาที
2. แผนการปรับปรุงโครงสร้างระบบนำน้ำของโครงการชลประทานเดิมที่มีอยู่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ดมายังคลองพระยาบันลือ ต่อไปยังคลองพระพิมล คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ คลองสนามชัย-มหาชัย และออกสู่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะสามารถระบายน้ำเพิ่มได้จาก 50 ลบ.ม.ต่อวินาทีในปัจจุบันเป็น 130 ลบ.ม.ต่อวินาที
4 แผนงาน ในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แผนงาน คือ
1. แผนการขุดคลองระบายน้ำหลาก(คลองบายพาส)บางบาล-บางไทร เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะระบายน้ำได้ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที
2. แผนการขุดลอกลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะขุดลอกเป็นช่วงๆรวมระยะทาง 20 กิโลเมตร เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยาสามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที
3. แผนการสร้างทำนบ ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำ
4. แผนการสร้างคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบ 3 ฝั่งตะวันออก คลองสายนี้จะตัดยอดน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ประมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะนี้กรมชลประทาน กรมทางหลวง และไจก้ากำลังทำการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้เบื้องต้น ก่อนจะทำการศึกษา EIAควบคู่กับการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3
หากสามารถดำเนินการได้ทั้งหมดจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำเหนือลงสู่ทะเล สร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค