“พลเอก ประวิตร” นำทีมลงพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา สั่งเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และเดินหน้าให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เตรียมใช้ 10 ทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำโดยผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ชี้ล่าสุดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในปีนี้ยังน้อยกว่าปี 54 และปี 64 เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 65 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามการดำเนินการโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดชัยนาทและพระนครศรีอยุธยา โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวต้อนรับ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสถานการณ์น้ำและสรุปการดำเนินการของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง อธิบดีกรมชลประทาน รายงานแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมและการช่วยเหลือในพื้นที่อุทกภัย และผู้แทนกระทรวงกลาโหม รายงานสรุปการสนับสนุนศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลางและการช่วยเหลือในพื้นที่อุทกภัย ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท หลังจากนั้น ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณอำเภอป่าโมก จ.อ่างทอง และสถานการณ์น้ำแม่น้ำน้อย บริเวณที่ว่าการอำเภอเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมลงพื้นที่วัดโบสถ์(ล่าง) อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อรับทราบรายงานสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และพบปะให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากอิทธิพลพายุ “โนรู” ทำให้ฝนตกหนักมากและเกิดน้ำหลากน้ำท่วมขังที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนป้องกันและรับมือล่วงหน้าโดยการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จำนวน 2 ศูนย์ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี และภาคกลาง จ.ชัยนาท โดยในวันนี้ได้ลงพื้นที่ติดตามการทำงานของศูนย์ฯ ที่ จ.ชัยนาท เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคในการทำงานของศูนย์ฯ ทั้งนี้ รัฐบาลมีความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และขอให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนการทำงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ เร่งแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ได้สั่งการให้จังหวัด กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว รวมถึงให้ทางจังหวัด บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง พิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงให้วางแผนเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าด้วย โดยให้ สทนช.ประสานงานกับกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแผนการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และเตรียมแผนการส่งน้ำเข้าทุ่ง เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าด้วย ควบคู่การแก้ไขปัญหาด้านน้ำอย่างยั่งยืน โดยมอบหมายให้ สทนช.เร่งรัดขับเคลื่อนแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง-น้ำท่วม เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำในระดับพื้นที่ และมอบหมายกรมชลประทานเร่งรัดการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนด้าน เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาล่าสุด ( 3 ต.ค.65 ) มีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนทั้ง 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 18,057 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 73% ของปริมาณการกักเก็บ และยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 6,814 ล้าน ลบ.ม. โดยการระบายน้ำ ณ สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ 2,643 ลบ.ม./วินาที ซึ่งพบว่าน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 54 ที่ระบายในอัตรา 3,628 ลบ.ม./วินาที และยังน้อยกว่าปี 64 อัตรา 2,776 ลบ.ม./วินาที แม้ว่าปริมาณฝนปีนี้จะใกล้เคียงกับช่วงเวเลาเดียวกันในปี 2554 แต่ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ การกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันล่วงหน้าตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนที่ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเข้มข้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ เขื่อนทุกขนาด และพื้นที่แก้มลิง เพื่อชะลอน้ำหลากในพื้นที่ตอนบนให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังอาจจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำบ้าง ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 32 จังหวัด อาทิ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ สุโขทัย ชัยภูมิ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ลพบุรี เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท ชลบุรี และพังงา เป็นต้นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ 3 ตุลาคม 2565