เมื่อแสงสีทองเริ่มสะท้อนระยิบระยับจากผิวน้ำ แว่วยินเสียงไก่โก่งคอขันประสานเสียงกัน เหมือนดั่งนักร้องวงออร์เคสต้า พร้อมกับกลิ่นควันไหม้ฟืนที่กำลังลุกโชนใต้หวดนึ่งข้าว ทำให้กลิ่นหอมข้าวนึ่งโชยมาเตะจมูก ชาวประมงพื้นบ้านเริ่มแล่นเรือออกหาปลาในลำน้ำ นั่นคือสัญญาณบ่งบอกให้ทราบถึงวันใหม่แห่งลุ่มน้ำโขงที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงผู้คนชาวริมโขงของนานาประเทศได้เริ่มขึ้นอีกแล้ว
แม่น้ำโขงที่ได้รับขนานนามว่า แม่น้ำดานูบตะวันออก มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัยทางตอนเหนือของทิเบต ไหลผ่านประเทศจีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ทำให้แม่น้ำโขงมีชื่อเรียกต่างกันไปตามประเทศที่ผ่าน อาทิ คนจีนเรียกแม่น้ำหลานชางหรือหลานชางเจียง คนเมียนมาและคนลาวเรียกแม่น้ำของ เป็นต้น
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ไหลเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขาที่มีตลิ่งสูงชันทั้งสองข้าง ไหลจากเหนือลงสู่ใต้ตลอดทั้งปี ระดับน้ำในฤดูฝนกับฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันมาก มีเกาะแก่งน้อยใหญ่จำนวนมาก ถือเป็นลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูง เต็มไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะปลาบึกที่เป็นสัตว์น้ำขนาดใหญ่และพบได้เฉพาะในแม่น้ำแห่งนี้
ณ ดินแดนมหานทีที่กว้างใหญ่และทอดยาวเป็นพันกิโลเมตรแห่งนี้ ยังถูกเชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยของพญานาค ทำให้มีตำนานและประเพณีต่างๆ ของชาวลุ่มน้ำโขงมากมาย
แต่ด้วยเหตุที่แม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำมากและไหลจากเหนือสู่ใต้ตลอดทั้งปี ทำให้มีการพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขึ้นในแม่น้ำโขงมากมาย การพัฒนาเหล่านั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่เป็นอยู่ ย่อมทำให้เกิดผลกระทบในทางลบบ้างอย่างแน่นอน อีกทั้งสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและนับจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำ ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำบางชนิดจึงได้สูญหายไปจากลำน้ำนี้ ตลอดจนวิถีชีวิตของประชาชนริมฝั่งโขงก็ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการขึ้นลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว
ถึงแม้ก่อนที่จะดำเนินการพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำต้องมีขบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้ากับประเทศสมาชิกในลุ่มน้ำโขง เพื่อนำไปสู่แผนการป้องกันและลดผลกระทบข้ามพรมแดน ตามข้อตกลงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก็ตาม ผลกระทบข้ามพรมแดนทั้งในเรื่องระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของชาวริมโขงก็ยังปรากฏให้เห็นตามข้อเรียกร้องของชาวริมฝั่งโขงของไทยอยู่เนืองๆ
สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะตัวแทนประเทศไทยเป็นคณะกรรมการร่วมในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและหน่วยงานที่บูรณาการการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ จึงได้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์และการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของพื้นที่ริมน้ำโขงอย่างมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่แนวทางการบรรเทาปัญหาที่มีต่อประชาชนชาวริมฝั่งโขง 8 จังหวัดของไทย โดยมีประเด็นหลักๆ ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำเพื่อความมั่นคง การบรรเทาปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม
การพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเป็นการผลิตพลังงานสะอาดที่ชาวโลกกำลังตื่นตัวและก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมายก็ตาม ผลกระทบทางลบย่อมเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่อย่าลืมไปว่าสิ่งที่ผ่านย่อมเป็นบทเรียนที่สำคัญ ที่จะต้องนำมาใช้ในการวางแผนพิจารณาการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันทั้ง 4 ประเทศ เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์และความสุขจากแม่น้ำสายเดียวกันนี้ ให้เหมือนเส้นโลหิตเดียวกันที่สามารถหล่อเลี้ยงร่างกายได้ทุกคน ดั่งคำขวัญ “One Mekong One Spirit” ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศเป็นจริง
ตรัยวาริน
#รักษ์ธรรมชาติธรรมชาติรักเรา