ฤดูฝนบ้านเราปีนี้ค่อนข้างล่าช้ากว่าปีก่อนๆ ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ว่าได้ ปีที่แล้วบ้านเราเผชิญกับสถานการณ์ลานีญา ทำให้มีฝนตกหนักมากกว่าปกติ มีปริมาณฝนสะสมรวมใกล้เคียงกับปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัย แต่ในปี 2565 นั้น ความร่วมมือและรูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่เปลี่ยนไป ทำให้พื้นที่ประสบอุทกภัยน้อยกว่าปี 2554 ในขณะที่ปีนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์เอลนีโญ ที่จะทำให้ปริมาณฝนมีแนวโน้มน้อยกว่าค่าปกติ แต่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์โอกาสที่บ้านเราจะเผชิญกับพายุหมุนเขตร้อน 1-2 ลูก หากคำพยากรณ์เป็นเช่นนั้นจริง บ้านเราอาจจะได้รับผลกระทบทั้งภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย การบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง องค์กรที่เราคาดหวังว่าจะช่วยเราได้อย่างดี นั่นคือ คณะกรรมการลุ่มน้ำ
“คณะกรรมการลุ่มน้ำ” เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยมีองค์ประกอบครบถ้วนทั้งที่มาจากผู้แทนโดยตำแหน่งของส่วนราชการและจากการคัดเลือกผู้แทนขององค์กรที่เกี่ยวข้องเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ รวมถึงหน้าที่และอำนาจต่างๆ ตามมาตรา 35 ที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 อาทิ การจัดทำแผนแม่บท การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ การจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม เสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ เป็นต้น
หากเปรียบคณะกรรมการลุ่มน้ำกับกองทัพแล้ว คณะกรรมลุ่มน้ำก็เปรียบเสมือนกองทัพด่านหน้าต่อสู้กับข้าศึกที่ชื่อว่าน้ำ ไม่ให้มาทำความเสียหายจากการท่วม แล้ง และเน่าเสีย อย่างไรก็ตาม การออกรบที่ไม่มีอาวุธก็คงจะชนะคู่ต่อสู้หรือข้าศึกได้ยาก คณะกรรมการลุ่มน้ำก็เช่นกันมีความจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมด้วย แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วคณะกรรมการลุ่มน้ำเพิ่งได้ครบองค์ประกอบเมื่อมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้การจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง ตลอดจนแผนแม่บทลุ่มน้ำโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำเองยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ จึงขอใช้มาตรการรองรับมือฤดูฝนและฤดูแล้ง แผนปฏิบัติงานของหน่วยงานในลุ่มน้ำ และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นอาวุธคู่กายกันไปพลางก่อน
พวกเราคงทราบกันดี ไม่ว่าจากตำนานสามก๊ก ซุนวู หรือตำราพิชัยสงคราม กองทัพที่ดีย่อมต้องมีแม่ทัพที่มีวิสัยทัศน์ รับผิดชอบสูง เด็ดเดี่ยวและกล้าตัดสินใจ แม่ทัพในลุ่มน้ำของเราก็คือผู้ว่าราชการจังหวัดในลุ่มน้ำนั้นๆ ที่มีการคัดเลือกจากผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยกันเอง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาคที่ได้รับการคัดเลือกเป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือเป็นนายทหารคนสนิท (ทส.) ของแม่ทัพต้องมีความเข้มแข็ง อดทน และไหวพริบปฏิภาณที่ดี สามารถประสานงานได้สิบทิศ ไม่ว่าหน่วยงานใดก็ตาม ต้องประสานให้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด ยิ่งในภาวะวิกฤตด้วยแล้ว เลขานุการยิ่งต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือแม่ทัพของเรานั่นเอง เรียกได้ว่าเช้าถึงเย็นถึง หรือต้องไปอยู่กินนอนด้วยกันเลย ในขณะเดียวกันกองทัพยังต้องมีฝ่ายเสนาธิการที่รอบรู้ในเชิงรบ เรียกได้ว่าระดับน้องๆ ขงเบ้งกันเลยทีเดียว นั่นคือ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่ได้รับการคัดเลือกมาเพื่อคอยให้คำปรึกษาต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำในการขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำให้สัมฤทธิ์ผลในลุ่มน้ำนั้นๆ
บ้านเมืองเรามีทั้งหมด 22 ลุ่มน้ำ มีทั้งลุ่มน้ำที่มีความเชื่อมโยงกันและลุ่มน้ำที่เป็นเอกเทศไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับลุ่มน้ำอื่น การบริหารจัดการน้ำสำหรับลุ่มน้ำที่เชื่อมโยงกันจึงมีความยุ่งยากมากขึ้นต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำ พูดง่ายๆ ว่า ลำพังแค่ลุ่มน้ำเดียวที่เป็นเอกเทศก็รับมือในแต่ละปีไม่หวาดไม่ไหวแล้ว ด้วยสภาพอากาศแปรปรวนขนาดนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจึงต้องทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางระหว่างลุ่มน้ำที่เชื่อมโยงกันให้เกิดการบูรณาการบริหารจัดการแบบไร้รอยต่อ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติยังต้องคอยช่วยเหลือเหล่ากองทัพที่อยู่ในแต่ละลุ่มน้ำเพื่อสนับสนุน ทั้งเสบียงกรัง อาวุธเสริมอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งกำลังเสริมจากส่วนกลางลงไปช่วยเหลือตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำต้องการ หากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติรับมือไม่ไหว อีกก็ต้องถึงขั้นจอมทัพกันแล้วล่ะครับ นั่นก็คือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
เมื่อถึงคราววิกฤตที่กองทัพน้ำทวีความรุนแรงมากขึ้น จนคณะกรรมการลุ่มน้ำรับมือไม่ไหวโดนตีพ่ายกันหมด จนประเมินว่าวิกฤตนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคน สัตว์ หรือพืช หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐอย่างรุนแรงแล้ว นายกรัฐมนตรีหรือจอมทัพของเราสามารถสั่งให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือจอมทัพของเราเป็นผู้บัญชาการเองตามมาตรา 24 ในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
เล่ามาทั้งหมดทุกคนคงเห็นด้วยกับผู้เขียนว่า คณะกรรมการลุ่มน้ำหรือกองทัพด่านหน้าของพวกเรานั้นมีความสำคัญมากๆ หากรวมพลังกันอย่างเต็มที่พร้อมขอรับกำลังเสริมจากส่วนกลางด้วยแล้ว กองทัพน้ำจะบุกมาอย่างไร จะมาในรูปแบบใดก็ตาม คณะกรรมการลุ่มน้ำหรือกองทัพด่านหน้าของพวกเราพร้อมที่จะรับมือปราบกองทัพน้ำเหล่านี้ไปให้สิ้น เพื่อความอยู่ดีกินดีสงบสุขปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในลุ่มน้ำนั้นๆ ในช่วงฤดูฝนปีนี้…
ตรัยวาริน
#ร้ายเท่าไหร่ก็ไม่กลัวถ้าเราสามัคคี