ยามเมื่อฝนโปรยปรายลงมาอย่างต่อเนื่องจนน้ำเริ่มขังในกระทงนา เสียงกบ อึ่งอ่าง เขียดร้องกันระงมนั่นหมายถึงการย่างเข้าสู่ฤดูฝนหรือการเริ่มต้นฤดูการผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรไทย ประเทศไทยมีทั้งพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานซึ่งนับได้ว่าเป็นพื้นที่การเกษตรที่มีความมั่นคงด้านการผลิตเนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อการผลิตโดยได้รับการสนับสนุนน้ำจากเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่มีการเก็บสะสมน้ำในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ในขณะที่พื้นที่อีกประเภทหนึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานหรือพื้นที่การเกษตรอาศัยน้ำฝนซึ่งยังคงมีความสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านการผลิตในบางปี ทำไมถึงมีความเสี่ยงเช่นนั้นเรามาติดตามกันต่อไป

พื้นที่การเกษตรอาศัยน้ำฝนก็สมชื่ออยู่แล้ว หากปีใดเทวดาไม่เป็นใจไม่ประทานน้ำฝนมาให้อย่างต่อเนื่อง เรียกว่าให้ๆหยุดๆก็จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเกิดความเสียหายได้ ยิ่งในปีนี้มีการคาดการณ์จากหลายสำนักรวมทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาของไทยและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติว่าจะเข้าสู่สถานการณ์เอลนีโญและอาจจะลากยาวไปในปีหน้าอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ดังนั้นพื้นที่การเกษตรอาศัยน้ำฝนที่ไม่มีแหล่งน้ำสำรองเป็นของตนเองในช่วงฝนทิ้งช่วงย่อมมีความเสี่ยงต่อความเสียหายของผลผลิตเนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ถึงแม้จะมีการทำฝนหลวงที่ดำเนินการตามตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ฝนทิ้งช่วงก็ตาม แต่การปฏิบัติการฝนหลวงนั้นเป็นการเลียนแบบธรรมชาติจึงต้องอาศัยเงื่อนไขของสภาพอากาศเป็นตัวตั้ง หากวันใดเงื่อนไขของสภาพอากาศไม่เอื้อต่อการเกิดฝนแล้วโอกาสที่จะขึ้นบินไปบังคับเทวดาก็จบลง

การบริหารจัดการน้ำในปีนี้จึงมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่งเพราะน้ำไม่ได้มีความสำคัญต่อภาคการเกษตรเท่านั้น น้ำยังมีความสำคัญต่อการดำรงของสิ่งมีชีวิตต่างๆทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ในขณะเดียวกันทุกคนเข้าใจว่า”น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติน้ำจึงเป็นสมบัติของทุกคนๆมีสิทธิ์ที่จะใช้น้ำ”
จากพื้นฐานความคิดของทุกคนที่คิดว่าน้ำเป็นสมบัติของทุกคนนั้นจึงทำให้การบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสภาวะที่มีปริมาณน้ำอย่างจำกัดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้เกิดศึกแย่งชิงน้ำมิฉะนั้นบรรยากาศบ้านเมืองเราคงยิ่งร้อนระอุมากขึ้นไปกว่านี้ อย่างไรก็ตามการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนเหมือนจะเป็นเพียงแค่อุดมคติที่หลายๆคนคิด แต่เราก็มีเครื่องมือที่จะช่วยให้เกิดการส่งเสริมการบูรณาการหรือทำให้ฝันนั้นเป็นจริงได้ นั่นคือพรบ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ในส่วนองค์กรผู้ใช้น้ำ
เรื่องราวเกี่ยวกับองค์กรผู้ใช้น้ำได้ถูกกล่าวอยู่ในพรบ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ตามมาตรา 38 และ39 และยังมีประกาศกฎกระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมอีกด้วย โดยองค์กรผู้ใช้น้ำมี 3 ภาคส่วนได้แก่ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม

องค์กรผู้ใช้น้ำแต่ละภาคส่วนนั้นเกิดจากการรวมตัวกันที่ใช้น้ำบริเวณใกล้เคียงกันและอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกันมากกว่า 30 คนร่วมกันจดทะเบียนก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในหมู่สมาชิกเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ปัจจุบันได้มีการจดทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำทั้งประเทศรวม 3,449 องค์กร แยกเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำภาคเกษตรกรรม 2,914 องค์กร ภาคอุตสาหกรรม 270 องค์กร และภาคพาณิชยกรรม 265 องค์กรกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศ หากองค์กรผู้ใช้น้ำเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมให้มีความเข้มแข็งในการดำเนินการในหน้าที่ตามเจตนารมย์ของพรบ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 แล้วการบริหารจัดการน้ำของประเทศย่อมจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามสำหรับองค์กรผู้ใช้น้ำในสภาพปัจจุบันหากเกิดสภาวะวิกฤตน้ำขึ้นมา ถ้าองค์กรผู้ใช้น้ำทัังสามภาคส่วน ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ต่างใช้จุดแข็งเพื่อเสริมจุดอ่อนซึ่งกันและกัน เกิดการเกื้อกูลกันอย่างกลมกล่อมแบบไทยๆที่มีการแบ่งปันน้ำใจซึ่งกันและกัน มาร่วมแบ่งปันน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดความเหมาะสมและสมดุลด้วยแล้วก็นับเป็นเสน่ห์ของวัฒนธรรมไทยที่เคยปรากฏแก่สายตาชาวโลกมานับครั้งไม่ถ้วนย่อมก้าวข้ามวิกฤตเหล่านี้ไปได้อย่างแน่นอน
ในขณะที่อีกองค์กรหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าองค์ผู้ใช้น้ำและผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำทั้งสามภาคส่วนได้ถูกคัดเลือกเข้าไปเป็นสมาชิกด้วยนั้นก็คือคณะกรรมการลุ่มน้ำซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2565 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดในลุ่มน้ำนั้นๆคัดเลือกกันเองเพื่อเป็นประธานกรรมการ และกรรมการประกอบไปด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการคัดเลือก ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำภาคเป็นกรรมการและเลขนุการ ส่วนความสำคัญของคณะกรรมการลุ่มน้ำต่อการบริหารจัดการน้ำจะเป็นอย่างไรนั้นโปรดติดตามกันต่อไปเพราะการบริหารจัดการน้ำนั้นเป็นเรื่องของทุกคน…
ตรัยวาริน
#แล้งในฝนนี้ทุกคนต้องรอด