#ชีวาธารา
วันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปีชาวไทยพุทธมีประเพณี “ลอยกระทง”วัฒนธรรมที่เกี่ยวพันกับสายน้ำสืบทอดกันมายาวนาน เพื่อขอบคุณและอธิษฐานขอพรเสริมสิริมงคลให้ชีวิต รวมถึงการกล่าวขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงในน้ำจาก “พระแม่คงคา” เทพศักดิ์สิทธิ์ผู้ดูแลน้ำ ลำคลอง หรือสายน้ำทั่วทุกแห่ง ซึ่งในคัมภีร์ปุราณะ เรียกพระแม่คงคาว่า “วิยัทคงคา” หรือ “คงคาสวรรค์” พระแม่คงคานี้จะไหลออกจากนิ้วหัวแม่เท้าของพ่อวิษณุนารายณ์ ให้เราได้อาศัยน้ำกินน้ำใช้

หากเราใช้ “น้ำ”กันอย่างสร้างสรรค์ก็เป็นคุณ แต่หากทำลายใช้อย่างไม่สร้างสรรค์ ทำให้น้ำเสีย ล้วนแต่ส่งผลกระทบมากมาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคและเป็นพาหนะนำโรคต่าง ๆ สู่มนุษย์ สัตว์ และพืช ทำลายทัศนียภาพ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่ใช้ในการคมนาคมและแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งการบำบัดน้ำเสียให้กลับมาดีดังเดิมก็สิ้นเปลืองงบประมาณ และใช้ระยะเวลานาน
ดังจะเห็นได้จากโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลมีแผนดำเนินการตามแผนแม่บทน้ำ 20 ปี ด้านที่ 4 การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ เช่น โครงการฟื้นฟูคลองแสนแสบ งบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี รวมถึง “คลองแม่ข่า” ที่รับน้ำมาจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำปิงที่ ต.บ้านป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ ระยะทางทั้งสิ้น 22.16 กิโลเมตร ในอดีตคลองแม่ข่ามีความอุดมสมบูรณ์ น้ำใสสะอาด ใช้เป็นน้ำอุปโภค-บริโภคได้ แต่จากการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ระบบ ส่งผลให้คลองแม่ข่าเสื่อมโทรมลง ประสบปัญหาน้ำเสีย และการบุกรุกพื้นที่คลองแม่ข่าที่สะสมมาเป็นเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ปัจจุบันได้รับการแก้ไขอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะจุดแลนด์มาร์คแลนด์สุดฮิตที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตระหว่างชุมชนกับคลองแม่ข่า ระยะทางประมาณ 750 เมตร ที่เริ่มดำเนินการในปี 2564 – 2565 ใช้งบประมาณ 22 ล้านบาท ได้แก่ การก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียสองฝั่งคลองแม่ข่าพร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1 ถนนระแกง – ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) ขุดลอกคลอง ปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ ริมขอบของแม่น้ำมีการนำซีรีนบล็อกคอนกรีตที่ช่วยเรื่องการซับน้ำ เพิ่มอากาศในน้ำ และยังสามารถปลูกต้นไม้เพิ่มความสวยงามให้คลองแม่ข่าเป็นจุดเช็คอินของนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ ที่ให้อารมณ์ประหนี่งว่าได้ไปเยือน “คลองโอตารุ” ของประเทศญี่ปุ่น

ในทุกขั้นตอนของการพัฒนาปรังปรุงคลองแม่ข่าผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐมีการพูดคุยกับชาวบ้าน ตั้งแต่การออกแบบ มีการสนับสนุนให้คนในชุมชนรีโนเวทบ้านใหม่ให้เข้ากับบรรยากาศ ปรับปรุงบ้านเป็นร้านขายเครื่องดื่ม ร้านอาหาร ร้านของที่ระลึกที่มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน อาคารที่เคยรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่สาธารณะติดกับลำคลอง ประชาชนก็ยอมรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำออกไป เนื่องจากเห็นว่าการพัฒนาจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ซึ่งในอนาคต สทนช.ได้มีการจัดทำแผนหลักเพื่อพัฒนาคลองแม่ข่า ที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2567 เช่น การปรับปรุงลำน้ำและภูมิทัศน์คลองแม่ข่า ระยะกว่า 23 กิโลเมตร ก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย วงเงินประมาณ 400 ล้านบาท
เมื่อเรามีวัฒนธรรมประเพณีที่สวยงาม ความเชื่อที่สร้างพลังให้แก่เรา การฟื้นคืนสายน้ำที่เคยสดใส สวยงามให้ทุกชีวิตริมน้ำได้พึ่งพาก็ไม่ยากเกินความจริง ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อคุณภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น มีความปลอดภัยในชีวิต และขยายผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจในพื้นที่ให้กับแม่น้ำลำคลองสายต่าง ๆ ในประเทศไทย ให้วิถีสายน้ำในอดีตกลับคืนมาได้อีกครั้ง พวกเราต้องรักษาไว้อย่าทำลายสิ่งเหล่านี้อย่างเช่น ณ คลองแม่ข่าแห่งนี้ลำน้ำได้กลับมามีชีวิต มีพระแม่คงคาที่คอยเป็นกำลังใจให้ชาวริมคลองแม่ข่าได้มีความสุขเหมือนในอดีต…ถ้าหากน้ำดีก็ส่งผลให้ทุกชีวิตดีขึ้น อาจจะเป็นผลของพระแม่คงคาอวยพรตามความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมานั่นเอง.
