
จากตำนาน “หลวงพ่อโสธร” พระศักดิ์สิทธิ์สถิตคู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทรามานานกว่า 250 ปี ศูนย์กลางแห่งกระแสศรัทธาของประชาชน ไม่ใช่แค่เพียงลูกหลานชาวฉะเชิงเทราเท่านั้น แต่ขยายออกไปทั่วทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่าเดิมทีหลวงพ่อนั้นประดิษฐานอยู่ทางภาคเหนือ ต่อมาบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์ระส่ำระสายจึงได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยน้ำลงมาถึงแม่น้ำบางปะกง และถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐานที่วัดหงส์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดโสธรวราราม” มาจนถึงปัจจุบัน ด้านความศรัทธาที่มีต่อองค์หลวงพ่อโสธรไม่เพียงเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทราเท่านั้น ท่านยังเป็นดุจพ่อที่ดูแลรักษาลูกหลาน และเป็นที่พึ่งทางใจคนทุกข์ยาก สิ่งของที่ประชาชนนิยมนำไปบูชาหลวงพ่อหลังจากขอพรสำเร็จ ได้แก่ ไข่ต้ม ละครรำ การทำบุญถวายสังฆทาน การปฏิบัติธรรม และการตั้งสัจจอธิษฐานทำความเพียร โดยเชื่อกันว่าหลวงพ่อโสธรมักจะให้พรสมหวังกับคนที่เชื่อว่า ต้องลงมือทำเองด้วย ตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาที่ว่า“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” หรือ“อตฺตาหิ อตฺตโนนาโถ” นั่นเองคำสอนเรื่อง “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

นี้ยังสามารถนำมาใช้ได้กับบริบทของการบริหารจัดการชุมชนอีกด้วย ภายใต้สภาวะปัจจุบันที่เกิดการการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนับวันยิ่งจะรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอหรือไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเกิดปัญหาแล้วหากชุมชนหรือพื้นที่มัวแต่รอรับแต่ความช่วยเหลือก็จะไม่ทันสถานการณ์ หรือการแก้ไขของส่วนกลางก็อาจไม่สะท้อนความต้องการที่พอดีกับแต่ละพื้นที่ ในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระราชดำริ เรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกับชุมชนด้วยบริบทและวิถีที่เหมาะสมและตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตามหลักการที่ว่า “ปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ต้องตามใจผู้นอน” นั่นเอง โดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้นำมาขยายผลตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ด้านที่ 5 การบริหารจัดการน้ำ โดยร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.)

จัดการอบรมหลักสูตร “การจัดการและวางแผนบริหารทรัพยากรน้ำระดับชุมชน” เพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้กับชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรผู้ใช้น้ำ และผู้ใช้น้ำภาคประชาชน เพื่อผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายแต่ละพื้นที่สามารถจัดการและวางแผนบริหารทรัพยากรน้ำระดับชุมชนร่วมกับองค์กรผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในชุมชน และใช้ประกอบการขอรับงบประมาณต่อไปได้สำหรับชุมชนแห่งแรกที่จะเป็นพื้นที่นำร่อง ก็คือ ลูกหลานหลวงพ่อโสธรในวันนี้ ได้แก่ ชุมชน ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งพื้นที่นี้มีปัจจัยพื้นฐานที่น่าสนใจ คือ ความเข้มแข็งของอาสาสมัครในชุมชน ประกอบกับที่ผ่านมามีปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ในระดับหนึ่ง ในขณะที่ภาพใหญ่ระดับจังหวัดนั้น จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจของภาคตะวันออกที่จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญๆ ร่วมกับจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่อีกด้วยการอบรมหลักสูตร “การจัดการและวางแผนบริหารทรัพยากรน้ำระดับชุมชน” มีเป้าหมายสำคัญ คือ สามารถสร้างระบบพี่เลี้ยงและภาคีเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนที่เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน และมองกันอีกมุมหนึ่ง หลักสูตรนี้เราจะได้เห็นลูกหลานหลวงพ่อโสธรร่วมสร้างพลังแห่งศรัทธาให้กลายเป็นปัญญาในการพึ่งพาตนเอง โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปร่วมกันบริหารจัดการน้ำในชุมชนเพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
