เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย พร้อมสั่งการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยมี ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ในการนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เข้าร่วมประชุมและรายงานภาพรวมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลด้วย
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวมอบนโยบายว่า จังหวัดอุบลราชธานีสภาพบ้านเมืองประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาโดยตลอด ซึ่งได้รับทราบปัญหานี้มาตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาสู่เวทีการเมืองว่าที่ผ่านมาจะแก้ไขแบบบูรณาการในระยะยาวไม่ได้ ซึ่งตนเองมีความเข้าใจและห่วงใยกับปัญหาที่หมักหมมมานาน และไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยพบน้ำท่วมที่จังหวัดแพร่และจังหวัดสุโขทัยเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้ได้ดำเนินการป้องกัน และอยู่ในช่วงเวลาของการเยียวยาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีน้ำกำลังจะเริ่มท่วม ซึ่งยังไม่ถึงฤดูกาลที่น้ำจะมามาก แม้น้ำจะเริ่มมาแล้วแต่ก็ไม่มากเท่ากับปีที่แล้ว ทั้งนี้ ทางสำนักนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีข้อแนะนำในหลายข้อ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อดำเนินการป้องกันไว้ก่อน ก็อาจจะไม่ทำให้เกิดวิกฤติได้ ซึ่งวิกฤตน้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีไม่ใช่แค่เสียหายทางด้านเศรษฐกิจแต่เกี่ยวข้องกับทางด้านเกษตรกรรมอย่างมหาศาล รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมขังบางพื้นที่นานนับสัปดาห์ ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ไม่สะดวกสบาย และมีโรคภัยไข้เจ็บที่จะตามมา
นายกรัฐมนตรีกล่าวเน้นย้ำว่า รัฐบาลชุดนี้ตระหนักดีว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อไปอีกเรื่อย ๆ ไม่ได้ แต่รัฐบาลเข้ามาบริหารจัดการได้ไม่ถึงเดือน ถือว่าเพิ่งจะได้เข้ามาทำงาน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งได้มีการลงพื้นที่ติดตามดูสถานการณ์อุทกภัย โดยมีความเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาระยะสั้นยังทำได้ดี ทำได้มากกว่าที่เคยทำมา และทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งจะนำข้อมูลมาวางแผนโดยเฉพาะระยะสั้นทำอย่างไรไม่ให้ท่วมเหมือนปีที่แล้ว และให้น้ำท่วมน้อยลงไปเรื่อย ๆ
โดยภายหลังรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีกล่าวสั่งการว่า เมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นแล้วต้องมีการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ ขอให้พัฒนาระบบเตือนภัยและแจ้งข่าวสาร รวมถึงตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้าง เตรียมการช่วยเหลือประชาชน เตรียมการฟื้นฟูหลังประสบอุทกภัย และรายงานความคืบหน้าให้รัฐบาลได้รับทราบ โดยส่วนตัวเชื่อมั่นและมีความหวังว่าระหว่างนี้จนถึงฤดูฝน ทุกคนทำเต็มที่แล้วหรือยัง และทำอย่างไรให้ท่วมน้อยที่สุดและระบายน้ำได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีสถานการณ์น้ำจะท่วมในช่วงต้นเดือนตุลาคม ดังนั้น จะต้องมาดูในเรื่องของมิติการระบายน้ำที่ต้องทำให้ดีขึ้น ต้องขอบคุณทุกคน และอยากให้ลองใช้วิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาดูบ้าง
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ ลงพื้นที่ตรวจสถานีตรวจวัดระดับน้ำ (M7) จ.อุบลราชธานี โดยนายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมรถหน่วยติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ สทนช. ซึ่งเลขาธิการ สทนช. ได้นำเสนอแนวทางการสร้างการรับรู้ข่าวสารให้กับประชาชนต่อสถานการณ์น้ำปัจจุบัน และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ผ่านรถหน่วยติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ สทนช. ที่ประจำอยู่จุด สถานี M7 สามารถช่วยให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเตรียมการรับมือและช่วยคลายความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยเปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่เริ่มเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. จนกว่าสถานการณ์อุทกภัยจะคลี่คลาย
ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางต่อไปยังบริเวณแก่งสะพือ ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaigov.go.th





























