สทนช.ลุยแผนเร่งด่วนช่วยเหลือประชาชน จ.สุโขทัย ในพื้นที่อับฝน-ขาดแคลนแหล่งน้ำผิวดิน หลังประเมินปริมาณน้ำในแหล่งน้ำดิบมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ย้ำแผนป้องกันผลกระทบขาดน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ให้รอดแล้ง
วันนี้ (16 ธ.ค.66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ เป็นต้น ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง จ.สุโขทัย เพื่อรับทราบสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำในแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ต.หนองหญ้าปล้อง ต.วังตะคร้อ อ.บ้านด่านลานหอย และ ต.ทุ่งเสลี่ยม ต.บ้านใหม่ไชยมงคล อ.ทุ่งเสลี่ยม
จ.สุโขทัย ว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยกับสถานการณ์แล้งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศซึ่งยังมีความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำได้ จึงสั่งการให้ สทนช.เร่งขับเคลื่อน 9 มาตรการฤดูแล้งปี 2566/2567 ให้เกิดประสิทธิภาพโดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะเร่งด่วนในการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เช่น การสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง การจัดลำดับความสำคัญการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก เพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แล้งทั้ง 6 จุด พบว่า ส่วนใหญ่ประสบปัญหาแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของระบบประปาหมู่บ้านไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน รวมถึงคุณภาพน้ำประปาลดลงในช่วงฤดูแล้ง จึงได้เร่งหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเร่งหาแนวทางในการสนับสนุนน้ำจากแหล่งน้ำอื่นเข้ามาสนับสนุน
“สทนช.ได้หารือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่โดยเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน พิจารณาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ จ.สุโขทัย ทั้ง อ.บ้านด่านลานหอย อ.ทุ่งเสลี่ยม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อับฝน และอยู่นอกเขตชลประทาน แม้ว่าปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ยังไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่คงต้องมีการเตรียมแผนรองรับให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ เช่น การสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ การสูบน้ำจากหนองน้ำธรรมชาติ การรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรในการใช้น้ำภาคการเกษตรโดยไม่กระทบกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค” เป็นต้น” เลขาธิการ สทนช.กล่าว
อย่างไรก็ตาม นอกจากแผนระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้าแล้ว สทนช.ยังรับฟังแนวทางความต้องการของประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นคงน้ำในพื้นที่โดยพิจารณาแผนงานโครงการเพื่อสนับสนุนงบประมาณทั้งระยะกลาง และระยะยาวต่อไป เช่น การสร้างฝายชะลอน้ำ แก้ไขระบบกรองน้ำ ปรับปรุงระบบส่งน้ำ ขุดลอกแก้มลิง ขุดเจาะบ่อบาดาลที่มีการสำรวจความเหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นต้น
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
16 ธันวาคม 2566