เริ่มต้นจากชื่อเรื่องหลายๆคนคงนึกถึงนักร้องสาวสวยยุค 90 ที่มีดีกรีผ่านเวทีประกวดนางสาวไทยมาด้วย เพลงของเธอก็เป็นที่นิยมหลายเพลงเพราะทั้งเนื้อเพลงที่ไพเราะประกอบจังหวะดนตรีน้ำเสียงและความสวยเซ็กส์ซี่ของนักร้องด้วยแล้ว เรียกได้ว่าเป็นราชินีเพลงป้อปในยุคนั้นเลยทีเดียวหากใครได้ชมคอนเสิร์ตของเธอรับรองเป็นอันต้องติดใจ
ลองมาฟังท่อนฮุคกันสักนิดเผื่อจะนึกออก “ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน เปลี่ยนไปเป็นฉันและเธอ เท่าเทียมกัน“
สิ่งที่นักร้องต้องการสื่อคงสารคงเข้าใจตรงกันนะว่า…สิ่งไหนที่ผ่านมาแล้วมันไม่ดีก็เปลี่ยนเสีย อย่าทำอีก อย่าให้เกิดขึ้นอีก ไม่ใช่ว่าเราจะย้อนเวลาไปเปลี่ยนอดีตได้ถ้าจะย้อนเวลาไปเปลี่ยนอดีตคงต้องนั่งไทม์แมชชีนของโดราเอม่อนกลับไปหรือผ่านกระจกทวิภพของทมยันตีย้อนยุคกันไปเลยทีเดียว แต่นั่นมันแค่ในละคร
กลับมาในโลกแห่งความจริงกันหน่อย เมื่อเร็วๆนี้พี่น้องชาวภาคใต้ของเราประสบกับมหาอุทกภัยโดยเฉพาะที่จังหวัดนราธิวาสจากฝนตกหนักรวมกัน 3 วันเป็นปริมาณมากกว่า 700 มิลลิเมตร เฉลี่ยวันละ 2-300 มิลลิเมตรกันเลยทีเดียว ฝนเล่นตกปริมาณมากๆต่อเนื่องกันแบบนี้ ทั้งดินที่ราบเชิงเขาก็อุ้มน้ำไม่อยู่ส่งผลให้ดินโคลนถล่ม ศักยภาพของแม่น้ำที่รองรับน้ำท่าที่ไหลมารวมกันในลุ่มน้ำก็รับไม่ไหวเช่นกัน น้ำในแม่น้ำก็เลยเอ่อท่วมล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ชุมชน อีกส่วนหนึ่งก็มาจากน้ำป่าไหลหลาก ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินกันพอควร
อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนในการทำงานของพวกเราที่ควรนำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะพี่ใหญ่ในการบูรณาการบริหารจัดการน้ำจึงเห็นความจำเป็นต้องถอดบทเรียนมหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย
ก่อนเกิดภัยพี่น้องประชาชนมีความจำเป็นต้องทราบแนวโน้มสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน นั่นหมายความว่าข้อมูลแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนต้องแม่นยำ พื้นที่ไหนจะมีปริมาณฝนตกมากน้อยอย่างไร มีโอกาสน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน แต่ข้อสำคัญจะทำอย่างไรให้แจ้งเตือนได้ถึงกลุ่มเป้าหมายและทันเวลาต่อการเตรียมตัวของพี่น้องประชาชน อีกทั้งทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนเชื่อฟังและปฏิบัติตามการแจ้งเตือนในครั้งนั้นๆ ล้วนเป็นเรื่องที่เราต้องเก็บมาทบทวนทั้งสิ้น
ในระหว่างการเกิดภัยนั้นความสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการอย่างไรให้น้ำลดลงให้เร็วที่สุด หน่วยงานต่างๆต้องระดมสรรพกำลังไม่ว่าจะคนหรืออุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือในการจัดการน้ำให้ลดเร็วที่สุดหรือป้องกันไม่ให้ท่วมหนักกว่าเดิมหรือขยายวงกว้างมากขึ้นถึงแม้ในช่วงเกิดภัยแต่ประชาชนก็ยังมีความจำเป็นต้องสัญจร ดังนั้นการบริการข้อมูลว่าถนนเส้นไหนผ่านได้หรือผ่านไม่ได้ก็จำเป็นอย่างยิ่ง จริงๆแล้วข้อเสียจากการเกิดมหาอุทกภัยในครั้งนี้ก็มีข้อดีที่จะทำให้เราทราบได้ว่าปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำนั้นเป็นอย่างไรบ้าง มีสิ่งกีดขวางทางน้ำอยู่บริเวณไหนมากน้อยอย่างไร ทำไมดินโคลนถล่ม แล้วเราจะมีวิธีการป้องกันแก้ไขสิ่งเหล่านี้อย่างไร…
สุดท้ายหลังเกิดภัยแล้ว การช่วยเหลือเยียวยาถึงแม้จะไม่ได้ตอบโจทย์ไม่สามารถชดเชยสิ่งที่เสียหายได้ แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้เร็ว เพราะใครๆก็อยากกลับเข้าไปอยู่บ้านของตนเอง ต้องการมีเงินใช้หลังจากที่ได้รับการสูญเสีย มีเงินที่จะซื้อข้าวของ เครื่องใช้ที่จำเป็นที่พินาศไปกับสายน้ำ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พวกเราจึงพร้อมใจกัน ร่วมเปิดใจและรับฟังความคิดเห็นในการมองจุดอ่อน และจุดแข็งกันและกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อพี่น้องประชาชนให้สมกับคำว่าประวัติศาสตร์จะต้องไม่กลับมาซ้ำรอย…