#สลิลธาราอารัญ
หากคำว่า “อู่ข้าวอู่น้ำ” จะหมายถึง พื้นที่หรือดินแดนที่เป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับมนุษย์และสัตว์
ก็ถือได้ว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำ” ทั่วประเทศก็คือ “อู่ข้าวอู่น้ำ” ทางธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์ในพื้นที่โดยรอบนั่นเอง เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ Wetlands ได้แก่ แหล่งน้ำประเภทต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น คือแหล่งผลิตห่วงโซ่อาหารที่มีทรัพยากรและผลผลิตทางธรรมชาติที่มนุษย์สามารถนำไปใช้ผลประโยชน์ได้มากมาย และยังมีความสำคัญทางนิเวศวิทยา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมไปถึงวิถีชีวิตชุมชนอีกด้วย
พื้นที่ชุ่มน้ำจำนวนมากทั่วประเทศ ได้ถูกจัดแบ่งความสำคัญเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับระหว่างประเทศ ระดับนานาชาติ ความสำคัญระดับชาติ และ ระดับท้องถิ่น ในจำนวนนี้ก็มี “หนองหาร” จังหวัดสกลนคร ที่ได้รับการจัดลำดับให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ เพราะเป็นทั้งแหล่งน้ำผิวดินในการอุปโภคและบริโภคของชุมชนเมืองสกลนครและพื้นที่โดยรอบ และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาน้ำจืดและนกน้ำหลากหลายสายพันธุ์จึงนับได้ว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของชาวสกลนครอย่างแท้จริง
ในอดีตบึงหนองหาร (Nong Han Lake) เป็นสถานที่ที่คนท้องถิ่นมีความเชื่อว่ามีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นทางเชื่อมระหว่างเมืองมนุษย์กับเมืองพญานาคที่จมอยู่ด้านล่าง นอกจากจะเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สันนิษฐานว่าเกิดจากการยุบตัวของแผ่นเปลือกโลกในอดีตแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของชาวสกลนครมายาวนานด้วย
แต่ในปัจจุบัน “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของสกลนครกำลังเกิดปัญหาความเสื่อมโทรมทั้งทางด้านคุณภาพน้ำและระบบนิเวศ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะขาดการจัดการที่เหมาะสม หน่วยงานต่างๆ จึงได้บูรณาการกันจัดทำแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จังหวัดสกลนคร ประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการเกษตร การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำ/อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และการบริหารจัดการ ดำเนินการภายในระยะเวลา 10 ปี (ปี 2563 – 2572) โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ติดตามความก้าวหน้าเพื่อขับเคลื่อนแผนฯ อยู่ในขณะนี้
แต่พลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดก็คือ “พลังของประชาชน” รอบหนองหารนั่นเอง หากทุกคนต่างก็รู้สึกรักและหวงแหนหนองหาร ช่วยกันตรวจตรา ดูแลชนิดที่ว่า “หน้าบ้านใครหน้าบ้านมัน” เพื่อฟื้นฟู บำรุงรักษาทั้งระบบนิเวศและขนบประเพณีที่ดีงามในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน…
เชื่อว่าไม่นานเกินรอ “อู่ข้าวอู่น้ำ” แห่งนี้ ก็จะกลับมาอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณและสรรพสัตว์ และคืนกำไรมหาศาลให้กับชาวสกลนครได้ดังเดิม