สลิลธาราอารัญ
หากนึกย้อนฉากทัศน์ไปสมัยยังเด็ก ชีวิตของฉันและครอบครัวผูกพันอยู่กับลำน้ำ คนในชุมชนทุกบ้านมีวิถีชีวิตอยู่ริมน้ำ ตั้งแต่ลืมตาใส่บาตรเรือพระจนกระทั่งอาบน้ำในคลองก่อนเข้านอน สัญจรไปมาด้วยลำคลองสายยาวสุดสายถึงชายฝั่งทะเลและบางลำน้ำก็เข้าไปถึงย่านสำคัญๆ ใจกลางเมือง เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด…
เพราะลำน้ำสำคัญต่อชุมชนเช่นนี้ตอนเด็กฉันจึงมักได้เห็นและได้ยินเรื่องราวหรือกิจกรรมเพื่อดูแลรักษาลำน้ำของกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชน บ่อยครั้งที่มีเรือลำใหญ่มาเก็บขยะหรือขุดลอกคูคลอง มีการประชุม (ส่วนใหญ่จะที่วัด) ในวาระต่างๆ เกี่ยวกับลำน้ำ เช่น การร่วมสร้างเขื่อนหินกันตลิ่งทรุด การลดหรือเพิ่มเรือโดยสารสาธารณะ การสร้างสะพานข้ามคูคลอง เป็นต้นและไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก หรือ น้ำแล้งวิกฤติอย่างไร ชาวบ้านต่างก็ใช้สายน้ำเชื่อมต่อความช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนผ่านทุกเหตุการณ์มาได้ นั่นคือภาพแหล่งน้ำในมุมมองแคบ ๆ เพียงย่านที่ฉันเกิดในวัยเด็ก…..วันนี้ที่ฉันเติบโตขึ้นมาและได้รู้จักกับแหล่งน้ำในภาพที่กว้างขึ้น ก็พบว่าประเทศไทยของเรามีถึง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ที่มีบริบทที่แตกต่างกันไปด้วยปัจจัยแห่งสภาพภูมิประเทศ การพัฒนาของพื้นที่ วิถีแห่งผู้คน อาชีพ การดำรงชีวิต ฯลฯ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่เกิดในแต่ละลุ่มน้ำจึงแตกต่างกัน แต่ก็หนีไม่พ้น 3 ประเด็นหลัก คืออุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำ
และแม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยจะมีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2566 – 2580) เป็นแผนหลักแล้ว แต่ก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ใช้บริหารจัดการแต่ละลุ่มน้ำที่เฉพาะเจาะจงลงไป เรียกว่า “แผนแม่บทลุ่มน้ำ” ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ซึ่งมีองค์ประกอบมาจากหน่วยงานและผู้แทนของคนในพื้นที่เอง โดยสิ่งสำคัญที่ควรจะคำนึงก็คือการพัฒนาให้เกิดสมดุลระหว่าง 3 ปัจจัย ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำคัญที่สุดแผนที่ได้ต้องเกิดจากการยอมรับและมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน
และสุดท้ายแล้วเราจะได้“แผนแม่บทลุ่มน้ำ” ที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของพี่น้องประชาชน ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่อย่างเป็นระบบ สามารถแก้ไขปัญหาทั้ง 3 ประเด็น น้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเน่าเสีย ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
แม้ว่าฉากทัศน์ในวันนี้ วิถีผู้คนไม่ได้ติดอยู่กับแหล่งน้ำเช่นเดิมแล้ว แต่สายน้ำก็ยังคงมีความสำคัญกับสรรพชีวิต
ดังนั้น “ลุ่มน้ำของเรา….เราต้องดูแล”