ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พร้อมด้วย นายชุมลาภ เตชะเสน ผู้ช่วยเลขาธิการ สทนช. และ ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. นำคณะประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม) (MRC) และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) เยี่ยมชมโครงการเขื่อนอิไตปู ประเทศบราซิล เพื่อศึกษาความร่วมมือการบริหารจัดการโครงการระหว่างประเทศ
สำหรับ เขื่อนอีไตปู สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1974 แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1982 ตั้งอยู่บนแม่น้ำพารานา ระหว่างประเทศบราซิลและปารากวัย ลักษณะของเขื่อนอิไตปู เป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งชนิดเขื่อนแบบกลวง มีความยาวประมาณ 7,919 เมตร และสูงประมาณ 196 เมตร ครอบคลุมพื้นที่เก็บน้ำประมาณ 1,550 ตารางกิโลเมตร มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันขนาดใหญ่ 20 เครื่อง อยู่ในโรงไฟฟ้าบริเวณฐานเขื่อน กำลังการผลิตประมาณ 14,000 เมกะวัตต์ โดยวัตถุประสงค์หลักของการสร้างเขื่อนอิไตปู เพื่อการพัฒนาพลังงานและทรัพยากรน้ำในภูมิภาค ดังนี้:
• ด้านผลิตพลังงาน: เขื่อนอิไตปู สร้างขึ้นเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่มาของพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค สามารถจ่ายไฟให้กับประเทศปารากวัยทั้งประเทศ และเมืองใหญ่ของบราซิล เช่น เซาเปาโล และรีโอเดอจาเนโร
• ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ: เขื่อนอิไตปู ช่วยในการจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาค โดยการเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนและการปล่อยน้ำในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้มีการใช้น้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน และยังมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะยาว เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการควบคุมน้ำ ช่วยลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมและช่วยจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้ง เพื่อสนับสนุนการเกษตร อุตสาหกรรม และวิถีชีวิตชุมชน
• ด้านพัฒนาเศรษฐกิจ: การสร้างเขื่อนอิไตปู มีผลกระทบทางบวกในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยสร้างงานสร้างรายได้ และสร้างโอกาสในการพัฒนาภูมิภาค รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของทั้งสองประเทศด้วย
“การศึกษาดูงานฯ โครงการเขื่อนอีไตปู ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาโครงการร่วมระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องมีการปรึกษาหารือและมีข้อกำหนดร่วมกัน ทั้งในประเทศผู้พัฒนาโครงการและประเทศที่จะได้รับผลกระทบข้ามพรมแดน รวมถึงการดำเนินงานที่จะต้องมีการลงทุนเพื่อดูแลด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการวิจัยพัฒนา เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดในสาขาอื่นๆ อีกด้วย เช่น กรณีของเขื่อนอิไตปู ที่มีการศึกษาวิจัยเรื่องไบโอแก๊สและการผลิตไฮโดรเจน ซึ่งบทเรียนที่ได้รับจากการศึกษาดูงานครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขงต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
1 สิงหาคม 2567
เครดิตภาพประกอบโดย เลขาธิการ สทนช.