รมต.จักรพงษ์ เรียกประชุมหน่วยงานด้านน้ำเร่งด่วน ติดตามสถานการณ์อุทกภัย สั่งการให้ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยให้กลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด ย้ำแม้สถานการณ์ไม่หนักเท่าปี 54 แต่ต้องเฝ้าระวังพายุจรอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (26 ส.ค. 67) นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมประเมินติดตามสถานการณ์น้ำ โดยมีดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
นายจักรพงษ์ เปิดเผยว่า ในวันนี้เป็นการประชุมเร่งด่วนเพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยในขณะนี้และการให้ความช่วยเหลือ โดยปัจจุบันมีพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยซึ่งสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ และสุโขทัย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งระบายน้ำเพื่อลดระดับน้ำ และเร่งสูบน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำต่าง ๆ ไม่ให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยได้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อขนส่งเครื่องจักรเครื่องมือสำหรับสูบระบายน้ำเพิ่มเติมเข้าสู่พื้นที่ที่ประสบภัย รวมถึงได้เร่งฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน โรงพยาบาล โรงเรียน เส้นทางสัญจร สาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งสนับสนุนอาหารและน้ำดื่ม และการขยายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ทั่วถึง โดยเน้นย้ำต้องให้ความช่วยเหลือเข้าถึงในพื้นที่ประสบปัญหาโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำรงชีวิตเป็นปกติ ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปลายเดือน ส.ค. นี้ มีแนวโน้มที่ฝนจะยังมีฝนตกซ้ำในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน บริเวณ จ.เชียงราย พะเยา น่าน และแพร่ แต่จะมีปริมาณฝนไม่มากเท่าช่วงที่ผ่านมาและไม่ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำที่ลดลงแล้วกลับมาเอ่อล้น รวมถึงมีฝนตกชุกบริเวณชายขอบของประเทศ ภาคตะวันออก ในพื้นที่ จ.จันทบุรี ตราด และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ในพื้นที่ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ซึ่งได้กำชับให้มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 29 – 31 ส.ค. 67 ที่ปริมาณฝนจะลดลง สทนช. ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพร่องน้ำจากแหล่งกักเก็บน้ำที่มีน้ำมากในช่วงเวลาดังกล่าว โดยในการพร่องน้ำจะต้องบริหารจัดการร่วมกับจังหวัดที่อยู่ด้านท้ายน้ำเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเร่งระบายน้ำในลำน้ำเพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนในช่วงหลังจากนี้ พร้อมกันนี้ ให้มีการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงจากฝนตกหนักในช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค. 67 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีค่าความชื้นในดินสูง เช่น บริเวณภาคเหนือตอนบน และที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งมีฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเตรียมป้องกันการเกิดเหตุดินโคลนถล่ม อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังรายงานข้อมูลการเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำในปี 67 และ ปี 54 พบว่า ปัจจัยต่าง ๆ มีความแตกต่างกันมาก เช่น ปริมาณฝน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งสถานการณ์ในปีนี้จะไม่รุนแรงเหมือนปี 54 แต่ได้สั่งการให้หน่วยงานมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อรองรับสถานการณ์กรณีหากมีพายุจรพัดผ่านเข้ามาด้วย
ด้าน เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากปริมาณน้ำใน จ.น่าน ได้ระบายลงสู่อ่างฯ สิริกิติ์ และปริมาณน้ำใน จ.เชียงราย และพะเยา ได้ระบายลงสู่แม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง มวลน้ำที่เหลือส่วนใหญ่จึงเป็นปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำยม โดยปัจจุบันแม่น้ำยมมีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.วังชิ้น จ.แพร่ ประมาณ 1,700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที จึงใช้การบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ เพื่อระบายน้ำออกทางคลองต่าง ๆ พร้อมทั้งได้รื้อทางรถไฟที่กีดขวางทางระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองยม – น่าน ปริมาณน้ำส่วนที่เหลือจะระบายมายังท้ายประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ จากนั้นมวลน้ำจะไหลผ่านตัวเมือง จ.สุโขทัย ในอัตรา 500 ลบ.ม. ต่อวินาที ส่งผลให้มีน้ำบางส่วนล้นพนังกั้นน้ำ แต่จะมีการสูบระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำจะไหลผ่าน จ.สุโขทัย สูงสุดในวันพรุ่งนี้ ก่อนสถานการณ์จะคลี่คลายลงตามลำดับ จากนั้นปริมาณน้ำจะไหลไปทาง จ.พิษณุโลก และพิจิตร โดยจะมีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เตรียมรับมือ ทั้งนี้ จะมีการผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าไปในทุ่งรับน้ำ และจะพิจารณาระบายน้ำในทุ่งลงไปสู่แม่น้ำน่าน หากระดับน้ำในแม่น้ำไม่สูงนัก เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับฝนตกในช่วงต่อจากนี้
สำหรับมวลน้ำที่ไหลมารวมกันที่ จ.นครสวรรค์ จะมีการควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 700 – 1,000 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ใน จ.อ่างทอง อยุธยา ชัยนาท และบางส่วนของ จ.สิงห์บุรี ซึ่งกรมชลประทานจะแจ้งเตือนการระบายน้ำให้ประชาชนทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมยกของขึ้นที่สูง อย่างไรก็ตาม จะไม่เกิดผลกระทบรุนแรงเหมือนสถานการณ์อุทกภัยเมื่อปี 54 แต่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามเฝ้าระวังพายุหมุนเขตร้อนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่ามีโอกาสเคลื่อนตัวเข้ามาได้ 1 – 2 ลูก ในช่วงฤดูฝนนี้ และดำเนินการตามข้อสั่งการได้ที่ได้รับอย่างเคร่งครัด
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
26 สิงหาคม 2567