สทนช. ลงพื้นที่ จ.ลำปางและพะเยา เตรียมพร้อมรับฝนที่อาจจะตกหนักอีกระลอกช่วงเดือน ก.ย. นี้ มอบกรมชลประทานพร่องน้ำเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำในอ่างฯ กิ่วลม – กิ่วคอหมา และกว๊านพะเยา โดยให้ดำเนินการในช่วงอุทกภัยคลี่คลายแล้วและจะต้องไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ เผยระดับน้ำฝั่งตะวันออกของ จ.พะเยา ลดลงแล้ว อยู่ระหว่างเร่งฟื้นฟู
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 67 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามสถานการณ์น้ำภาคเหนือ ณ จังหวัดลำปางและจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเดินทางไปยังจังหวัดลำปาง เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ในพื้นที่ ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ตำบลบ้านแลง อำเภอมืองลำปาง และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ณ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม ก่อนเดินทางต่อไปยังจังหวัดพะเยา เพื่อติดตามผลการดำเนินการมาตรการฯ ในพื้นที่ ณ ห้องประชุมสำนักงานโครงการชลประทานพะเยา อำเภอดอกคำใต้ จากนั้นได้ติดตามสถานการณ์น้ำ ณ อาคารควบคุมประตูระบายน้ำแบบพับได้ กว๊านพะเยา
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดลำปาง มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก โดยอ่างฯ กิ่วลม มีปริมาณน้ำ 58 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นประมาณ 55% ของความจุ และอ่างฯ กิ่วคอหมา มีปริมาณน้ำ 126 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 74% ของความจุ จึงมอบให้กรมชลประทานพิจารณาเพิ่มการพร่องน้ำออกจากอ่างฯ เตรียมพร้อมรองรับปริมาณฝนที่อาจจะตกหนักในช่วงเดือนกันยายน 2567 อีกระลอกหนึ่ง เพื่อไม่ให้อ่างฯ มีปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกัก พร้อมลดการระบายน้ำจากอ่างฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ให้ส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำในลำน้ำที่อาจเกินศักยภาพและล้นตลิ่งได้ โดยในการพร่องน้ำจากอ่างฯ ให้ประเมินสถานการณ์น้ำจากข้อมูลคาดการณ์ฝนระยะยาว (1 – 6 เดือนล่วงหน้า) สำหรับบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำ ทั้งนี้ สทนช. ได้ให้ความสำคัญกับการคาดการณ์สถานการณ์ทั้งในระยะสั้น (ล่วงหน้า 3 – 7 วัน) และระยะยาว โดยการคาดการณ์ระยะสั้นจะใช้เป็นข้อมูลในการแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การคาดการณ์ในระยะยาวจะใช้เป็นข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการแบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำสอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 โดยจังหวัดลำปางเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำวังและเชื่อมโยงกับลุ่มน้ำปิงเป็นอย่างระบบ
สำหรับในพื้นที่จังหวัดพะเยา ได้รับทราบรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ปัจจุบันระดับน้ำในกว๊านพะเยาได้ล้นประตูระบายน้ำ ซึ่งมีปริมาณน้ำประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม เกินกว่าระดับเก็บกักของกว๊านพะเยาประมาณ 15 ล้าน ลบ.ม โดยมีปริมาณน้ำระบายออกวันละ 7 ล้าน ลบ.ม ลงสู่แม่น้ำอิง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรด้านท้ายน้ำบริเวณอำเภอจุนและอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำอิงอยู่ค่อนข้างมาก จึงสามารถระบายน้ำได้ดี โดยคาดว่าระดับน้ำในกว๊านพะเยาจะลดลงจนเท่าระดับเก็บกักภายใน 3 วันนี้ และหากสถานการณ์อุทกภัยที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ให้กรมชลประทานพิจารณาพร่องน้ำเพิ่มเติมออกจากกว๊านพะเยา โดยต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำจากฝนที่อาจตกหนักหลังจากนี้ และให้มีการบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่างจังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงรายอย่างเป็นระบบ ส่วนสถานการณ์ทางด้านฝั่งตะวันออกของจังหวัดพะเยา ขณะนี้ระดับน้ำได้ทยอยลดลงมากแล้ว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งฟื้นฟูความเสียหายให้แก่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
24 สิงหาคม 2567