เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567) เวลา 14.10 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ครั้งที่ 1 / 2567 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าประชุม ในการนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) ได้เข้าร่วมประชุมและรายงานการวิเคราะห์ คาดการณ์สภาพอากาศ และแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า วันนี้เรียกประชุมด่วนจากที่ได้ลงพื้นที่ร่วมกับรัฐมนตรีหลายท่าน ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นรวมถึงรับฟังการรายงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ต้องขอขอบคุณชาวเชียงราย ที่แม้จะเจออุปสรรคอย่างหนักหน่วงแต่ยังมีรอยยิ้มส่งให้กับผู้ที่ทำงาน รวมถึงรัฐบาล ตนเองขอให้กำลังใจ และขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย หน่วยงานความมั่นคง รวมถึงจิตอาสาที่เข้าไปช่วยประชาชนโดยไม่ต้องร้องขอ ขณะนี้มีพื้นที่พักพิงชั่วคราวอาหารและน้ำดื่มอย่างครบถ้วน ส่วนมาตรการเยียวยาก็ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งขอเน้นย้ำตรงนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเยียวยาอยากให้เป็นไปอย่างเร่งด่วนและตรงกับจุด อย่างไรก็ตาม การเยียวยาอยากให้ตรงจุดเพราะหลายอย่างถูกตีกรอบการเยียวยา แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมากกว่านั้น และยังมีวาระการพูดถึงจำนวนวันที่เสียหาย อยากให้พิจารณาตรงนี้ อย่างที่ อำเภอแม่สาย มีอุทกภัย 3 วัน ซึ่งดูน้อย แต่ความเสียหายมากกว่านั้นเยอะ ฉะนั้นถ้าเราตัดสินกันที่จำนวนวันจะไม่พอดีกับความเสียหายที่เกิดขึ้นอันหนักหน่วงตรงนี้ จึงเห็นว่ากรอบการค่าชดเชย ต้องมีการพิจารณาทบทวน โดยอาจใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ เช่น กระแสน้ำที่มาสร้างความเป็นธรรม ซึ่งให้ ศปช. พิจารณา แนวทางการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้ง สำนักนายกรัฐมนตรี รวมพิจารณารายละเอียดด้วย
นายกรัฐมนตรียังเน้นระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า และการซักซ้อม โดยเฉพาะระบบ Cell Broadcast Service (CBS) หรือระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน เพื่อให้การเตือนภัยมีผลดีและถึงประชาชนโดยตรง ซึ่งจะให้คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และศูนย์ปฏิบัติการ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มซึ่งมีนายภูมิธรรม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทำงานร่วมกับนายอนุทินฯ นายสุริยะ ฯ และนายประเสริฐ ฯ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม เพื่อให้การทำงานช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทันท่วงที
โดยที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนที่สำคัญ และสถานการณ์การระบายน้ำ รายงานการพยากรณ์และแนวการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงรายงานการพยากรณ์อากาศ และรายงานการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ซึ่ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกสาโหม จะได้เรียกประชุมภายในวันพุธนี้ ทันที
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการต่อที่ประชุม ดังนี้
1. ขอให้ ศปช. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้และหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นฉุกเฉินให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที
2. ในคณะ คอส. ให้มีการประชุมติดตามงานเป็นระยะ ๆ จนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ
3. ขอให้ ศปช. ประเมินสถานการณ์และกำหนดการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตาม สั่งการ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้ทันที และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
4. ขอให้สำนักนายกรัฐมนตรีเร่งรัดมาตรการฟื้นฟูเยียวยา โดยกำหนดกรอบระยะเวลาให้ชัดเจนและเสนอ คอส. เพื่อทราบลำดับถัดไป รวมถึงการเยียวยาขอให้ครอบคลุมถึงกลุ่มชาติพันธ์ุ
5. เรื่องดินโคลนถล่ม กรมทรัพยากรธรณีต้องมีการชี้จุดที่ชัดเจน และมีการซักซ้อมอย่างจริงจังในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีภัยดังกล่าว
6. ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการประชาสัมพันธ์การรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ทราบเพื่อเตรียมการตามที่มีการแจ้งเตือน และขอให้กองทัพร่วมกับกรมอาชีวศึกษาระดมกำลังเข้าไปช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชน รวมถึงอาคารสถานที่ราชการโดยเร็ว
ในการประชุม นายกรัฐมนตรียังกล่าว ชื่มชมกองทัพและกำลังพลจากทุกเหล่าทัพ ที่เร่งลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวอำเภอแม่สายและจังหวัดเชียงรายทันทีที่เกิดเหตุวิกฤตน้ำท่วม ตั้งแต่ การช่วยชีวิต การอพยพ การรักษาพยาบาล การจัดตั้งศูนย์พักพิง จัดหาอาหารด้วยโรงครัวเคลื่อนที่ การจัดส่งสินของจำเป็น สร้างความเชื่อมั่น สร้าง กำลังใจต่อประชาชนในพื้นที่ ยีนยันรัฐบาลจะดูแลประชาชนให้ดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก wwww.thaigov.go.th