สทนช. รับข้อสั่งการรองนายกฯ ประเสริฐ ประชุมหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ณ จังหวัดสุโขทัย หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา บริหารจัดการน้ำร่วมกันตั้งแต่ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เผยพยายามคงอัตราการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 2,200 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด
วันนี้ (5 ต.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 10/2567 พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ณ ห้องประชุมศรีนคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก่อนลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์จุดคันกั้นน้ำขาดในพื้นที่ตำบลคลองกระจงและตำบลท่าทอง อำเภอสวรรคโลก พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณประตูระบายน้ำท้ายแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง รวมถึงพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมท้ายแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง บริเวณโรงพยาบาลสุโขทัย จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังจังหวัดพิษณุโลก โดยลงพื้นที่ติดตามโครงการหน่วงน้ำเจ้าพระยา เหนือจังนครสวรรค์ ณ แก้มลิงคลองละหาน ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก ตามลำดับ
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล สทนช. และประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีความห่วงใยในเรื่องสถานการณ์น้ำและปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยสำหรับจังหวัดเชียงใหม่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำสูงสุดไหลผ่านในวันพรุ่งนี้ (6 ต.ค. 67) ซึ่ง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำปิงในวันเดียวกันนี้ เพื่อเร่งช่วยเหลือพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่และลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้มีการประชุมหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ณ จังหวัดสุโขทัย โดย สทนช. ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ไปจนถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และเป็นข้อมูลให้จังหวัดต่าง ๆ นำไปเตรียมความพร้อมรับมือ โดยกำชับให้มีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ประชาชนให้รับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันมวลน้ำจากลุ่มน้ำยมที่ไหลผ่านจังหวัดสุโขทัยเป็นปริมาณน้ำสูงสุดแต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตัวเมืองสุโขทัย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก สทนช. ได้มีการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมชลประทานเพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลสุโขทัยที่ตั้งอยู่ท้ายทุ่งทะเลหลวงซึ่งจะมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจังหวัดสุโขทัยได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการของโรงพยาบาล นอกจากนี้ สทนช. จะเร่งขับเคลื่อนการดำเนินการซ่อมแซมในจุดที่ประสบปัญหาคันกั้นน้ำขาดให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ฤดูฝนหน้าต่อไป
สำหรับการระบายน้ำจากทุ่งลุ่มต่ำต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร โดยเฉพาะทุ่งบางระกำที่มีปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกักและเริ่มส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชน ได้พิจารณาแนวทางในการลดระดับน้ำในแม่น้ำน่านเพื่อให้สามารถระบายน้ำออกจากทุ่งได้ดีขึ้น โดยได้ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ให้อยู่ในอัตรา 5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ต่อวัน ไปจนถึงช่วงประมาณวันที่ 13 ต.ค. 67 ซึ่งจะมีการประเมินสถานการณ์น้ำภายในเขื่อนสิริกิติ์อีกครั้งเพื่อปรับอัตราการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด ทั้งนี้ สทนช. ได้ประเมินมวลน้ำจากลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านซึ่งจะไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยคาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 2,500 ลบ.ม. ต่อวินาที พร้อมกันนี้ จะมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 200 – 300 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยปัจจุบันมีการบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยา โดยระบายน้ำไปบริเวณเหนือเขื่อนทั้งทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ในอัตรา 300 ลบ.ม. ต่อวินาที และจะพยายามคงการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราไม่เกิน 2,200 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อป้องกันผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำให้ได้มากที่สุด โดยการระบายน้ำท้ายเขื่อนในอัตรา 2,000 – 2,200 ลบ.ม. ต่อวินาที จะส่งผลกระทบในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองโผงเผง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย และพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำบริเวณจังหวัดชัยนาท อำเภอสรรพยา และวัดสิงห์ (ตำบลโพนางดำตก) จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี พรหมบุรี และอินทร์บุรี (วัดสิงห์ วัดเสือข้าม) จังหวัดอ่างทอง อำเภอป่าโมกและไชโย (วัดไชโย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา บางบาล ผักไห่ (ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง) และเสนา (ตำบลหัวเวียง) จังหวัดปทุมธานี อำเภอเมืองปทุมธานีและสามโคก จังหวัดนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด (ตำบลท่าอิฐ) อำเมืองนนทบุรี (ตำบลไทรม้าและบางไผ่) อย่างไรก็ตาม สทนช. ได้แจ้งให้จังหวัดท้ายเขื่อนเตรียมยกของขึ้นที่สูงในระดับการระบายน้ำในอัตรา 2,400 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อเตรียมพร้อมล่วงหน้าในกรณีมีปริมาณฝนตกมากเกินกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ พื้นที่จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานีจะได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงด้วย ซึ่ง สทนช. ได้ประสานทุกจังหวัดให้เตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้าไว้แล้ว ทั้งนี้ สำหรับมวลน้ำจากลุ่มน้ำปิงในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนจะไหลลงสู่เขื่อนภูมิพล โดยไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
5 ตุลาคม 2567