“รองนายกฯ ประเสริฐ” ห่วงสถานการณ์ภัยแล้งพื้นที่อีสานตอนล่างปีนี้ ประเดิมลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา เร่งขับเคลื่อน
8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 สำรวจแหล่งน้ำต้นทุน จับตาพื้นที่เสี่ยงภัย กำชับแผนบริหารจัดการน้ำอ่างฯ ลำตะคอง เร่งหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติม บริหารจัดการน้ำในทุกมิติ โดยเฉพาะการอุปโภคบริโภค พร้อมเดินหน้าสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน
วันนี้ (4 พ.ย. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการขับเคลื่อนมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและขับเคลื่อน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา พร้อมมอบนโยบายและพบปะประชาชนในพื้นที่ หลังจากนั้น ลงพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามมาตรการรองรับฤดูแล้งในจุดต่างๆ ได้แก่ สถานีผลิตน้ำเฉลิมพระเกียรติ (ท่าช้าง) ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ, บ่อพักน้ำซับแห้ง บ้านซับศรีจันทร์ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว และอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว ตามลำดับ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เนื่องจากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาในพื้นที่มีปริมาณฝนตกน้อย ทำให้แหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ค่อนข้างน้อย รวมถึงอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญในการผลิตน้ำประปาและการเกษตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การอยู่เพียง 28% จึงมีความจำเป็นต้องควบคุมแผนการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนเป็นอันดับแรก ดังนั้น การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานในการเร่งขับเคลื่อน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 ตามที่ สทนช. ได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำไว้ล่วงหน้า เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่ได้ดำเนินการเชิงป้องกัน ลดผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่เกิดขึ้นเลย รวมทั้งรับฟังปัญหาและอุปสรรคเพื่อนำไปกำหนดแนวทางการแก้ไขในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป
“วันนี้ได้มอบหมายให้ สทนช. ร่วมกับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานการทำงานตามมาตรการอย่างใกล้ชิดและเตรียมแผนป้องกันไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่เปราะบาง หากเกิดผลกระทบกับประชาชนต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว พร้อมเร่งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ซ่อมแซมหรือปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำให้มากขึ้น รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เกษตรกรดำเนินการตามแผนเพาะปลูกพืชอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเฝ้าระวังปัญหาอัคคีภัยและไฟป่า และมอบหมายให้เทศบาลนครนครราชสีมา เร่งพัฒนาแหล่งน้ำสำรองเพื่อความมั่นคงด้านน้ำต้นทุน ในส่วนการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้มอบหมายให้จังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ และภาคส่วนต่างๆ เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนถึงความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของกลไกการบริหารจัดการน้ำในเชิงพื้นที่ อันจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญในเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคของชาวโคราช โดยเฉพาะพื้นที่ด้านเศรษฐกิจในตัว อ.เมืองนครราชสีมา ปัจจุบันมีการใช้น้ำประปาจาก 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักการประปาเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งจ่ายน้ำให้ประชาชนเขตเทศบาลนครนครราชสีมา 87,500 ครัวเรือน และสถานีผลิตน้ำเฉลิมพระเกียรติ(ท่าช้าง) การประปาภูมิภาคสาขานครราชสีมา จ่ายน้ำให้ประชาชนในพื้นที่นอกเขตเทศบาลนครนครราชสีมา 46,000 ครัวเรือน โดยระบบประปาเทศบาลฯ ใช้น้ำจาก 3 แหล่ง ประกอบด้วย ลำตะคอง ลำแชะ และลำน้ำมูล (อ่างเก็บน้ำลำตะคอง 47,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วัน ลำน้ำลำตะคอง 17,000 ลบ.ม./วัน อ่างเก็บน้ำลำแชะ 33,000 ลบ.ม./วัน และลำน้ำมูล 30,000 ลบ.ม./วัน) ส่วนสถานีผลิตน้ำเฉลิมพระเกียรติฯ ใช้น้ำจากลำน้ำมูลเป็นหลัก ปริมาณ 43,000 ลบ.ม./วัน โดยมีแหล่งน้ำสำรองคือ สระเก็บน้ำขนาด 4.1 ล้าน ลบ.ม. สำหรับใช้ในกรณีน้ำในลำน้ำมูลแห้งจนไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ ซึ่งระบบประปาทั้ง 2 แห่ง ต้องใช้แหล่งน้ำดิบจากลำน้ำมูลประมาณ 73,000 ลบ.ม./วัน จากการรับฟังปัญหาพบว่า อ.เมืองนครราชสีมา ประสบปัญหาปริมาณน้ำต้นทุนจากลำน้ำมูลเพื่อผลิตน้ำประปามีไม่เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนมีปริมาณน้ำใช้อย่างเพียงพอ จึงได้กำชับให้กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน สนับสนุนน้ำต้นทุนในลำน้ำมูลให้เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
ด้าน เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จ.นครราชสีมา อยู่ในพื้นที่ลำน้ำมูลเป็นส่วนใหญ่ และมีลำน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลำเชียงไกร ลำตะคอง ลำพระเพลิง ลำแชะ และลำจักราช ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ต.ค. 67) สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั้งหมด 4,962 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมกันอยู่ที่ 650 ล้าน ลบ.ม. หรือ 49% ซึ่งน้อยกว่าปี 66 อยู่ที่ 121 ล้าน ลบ.ม. โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ อ่างฯลำตะคอง อ่างฯลำพระเพลิง อ่างฯมูลบน และอ่างฯลำแชะ มีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ 430 ล้าน ลบ.ม. หรือ 49% นอกจากนี้ แหล่งน้ำขนาดกลาง 19 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ 188 ล้าน ลบ.ม. หรือ 58% และแหล่งน้ำขนาดเล็ก 4,939 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ 31 ล้าน ลบ.ม. หรือ 26% ทั้งนี้ สทนช.ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของ จ.นครราชสีมา ใน 31 ตำบล 14 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านเหลื่อม อ.ชุมพวง อ.ลำทะเมนชัย อ.ขามทะเลสอ อ.ขามสะแกแสง อ.เมืองนครราชสีมา อ.ปากช่อง อ.ด่านขุนทด อ.ปักธงชัย อ.โนนสูง อ.พระทองคำ อ.สีคิ้ว อ.โนนไทย และ อ.สีดา
“นอกจากแนวทางแก้ไขปัญหาด้านน้ำของ จ.นครราชสีมา ในระยะเร่งด่วนแล้ว รองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) ยังได้มอบหมายแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในระยะยาว โดยให้ สทนช. บูรณาการทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำด้านต่างๆ เช่น ธนาคารน้ำใต้ดิน แก้มลิง อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น พร้อมกำชับให้เร่งดำเนินการโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง บริหารจัดการน้ำในอ่างฯลำตะคองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอจนสิ้นสุดฤดูแล้ง รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ตามลำดับ และให้หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาเสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำระดับท้องถิ่น รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อให้การใช้น้ำร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการสร้างความยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำ” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
สำหรับการบูรณาการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยมีแผนงานในปีงบ 67 จำนวน 645 โครงการ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 1.26 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 9,280 ไร่ พื้นที่ได้รับการป้องกันจากอุทกภัย 6,230 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 5,244 ครัวเรือน เช่น ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองนครราชสีมา ระยะที่ 1 อ.เมืองนครราชสีมา, ทำนบดินหัวงานและอาคารประกอบ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านซับกระจายพร้อมระบบส่งน้ำ ต.กฤษณา อ.สีคิ้ว, ประตูระบายน้ำหัวงานพร้อมอาคารประกอบ โครงการประตูระบายน้ำบ้านยาง ต.ชุมพวง อ.ชุมพวง เป็นต้น ส่วนแผนงบปี 68 จำนวน 302 โครงการ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 5.82 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 30,848 ไร่ พื้นที่ได้รับการป้องกันจากอุทกภัย 4,742 ไร่ อาคารป้องกันตลิ่ง 3,016 เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 21,780 ครัวเรือน เช่น โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า จากแหล่งน้ำลำตะคองมายังโรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า, โครงการขยายกำลังการผลิตน้ำประปาผิวดินภายในโรงกรองน้ำขนาดไม่น้อยกว่า 500 ลบ.ม./ชั่วโมง บ้านมะขามเฒ่า ต.บ้านใหม่ อ.เมืองนครราชสีมา, โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็ม รูปแบบที่ 1 บ้านซับก้านเหลือง ต.ครบุรีใต้ อ.ครบุรี เป็นต้น
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
4 พฤศจิกายน 2567