ในชีวิตคนเราทุกคนล้วนต้องผ่านเรื่องราวมามากมาย ย่อมจะมีทั้งเรื่องบวกและเรื่องลบ แต่เวลาเจอเรื่องอะไรที่ลบๆ พร้อมๆ กันคนในยุคเก่าๆ มักจะพูดว่าความวัวไม่ทันหายความควายก็ดันมาแทรก ไม่รู้ว่าคนรุ่นใหม่จะพูดว่าอะไร? น้องๆ คนรุ่นใหม่ช่วยบอกที… สำหรับเรื่องลบๆ ที่เกิดจากการกระทำของตนเองก็คงต้องจำใจยอมรับ ทว่าเรื่องลบๆ ที่เกิดจากพวกพลังลบแล้วเราก็คงจะยอมรับยาก คงต้องมีการอุทานกันบ้างต่างๆ นานากับคนเหล่านั้น (รู้นะว่าจะอุทานว่าอะไร…)
สำหรับผมเองก็ยังเคยอุทานเมื่อเจอกับผลการกระทำของพวกคนเลวที่อาจจะมีผลกระทบมาต่อตัวเรา ยิ่งกระทบต่อประเทศชาติด้วยแล้วก็คงอุทานดังกว่าเก่า…คงเข้าใจตรงกันนะครับ แล้วหากธรรมชาติเป็นตัวกระทำล่ะเราจะอุทานด่าหรือยอมรับสภาพไป ก็คงมีสองอย่างแน่นอน อย่างที่หนึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ก็คงด่าหน่วยงานกันฉ่ำ แต่ถ้ามันเป็นเหตุสุดวิสัยแล้วก็คงต้องยอมรับสภาพคงไม่มีใครกล้าด่าฟ้าดินแน่นอนเพราะยิ่งด่าระวังจะเป็นไปตามปาก อ้าว!!! พูดยังไม่ทันขาดคำฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาเสียแล้ว
ในช่วงปลายฝนต้นหนาวมักจะมีฝนฟ้าคะนองได้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นเมื่อตะกี้ที่ฟ้าผ่าเปรี้ยงก็เป็นเรื่องธรรมชาตินะ อย่าคิดมาก ยิ่งใครไม่เคยสาบานถ้าพูดโกหกขอให้ฟ้าผ่าตายด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องกลัว เพียงแต่ขออย่าให้โกหกตัวเองว่าไม่พูดโกหก ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงเพราะถ้าโดนจับได้อาจจะไม่ใช่ฟ้าผ่า อาจจะกลายเป็นต้องผ่าปากมากกว่า
กลับมาเรื่องความวัวไม่ทันหายความควายก็ดันเข้ามาแทรกดีกว่า ฤดูฝนปีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลว่ามีแนวโน้มจะเข้าสู่สภาวะลานีญามาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่แล้วก็เลื่อนมาเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามแม้ว่าไม่ได้เข้าสู่สภาวะลานีญานะฝนในช่วงฤดูฝนยังมากกว่าค่าปกติเป็นอย่างมาก ในหลายพื้นที่เจอฝนหนักสุดขั้วหรือบางคนบอกว่าเรนบอมบ์จะเรียกอย่างไรก็เอาเถอะ แต่ร่องรอยจากฝนเหล่านี้ทิ้งความหายนะให้เห็นมากมายไม่ว่าจะน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม
ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สินถือว่าเป็นความวัว แล้วความควายล่ะก็บอกแล้วปลายฝนต้นหนาว ในฤดูหนาวบ้านเราก็จะเริ่มราวๆ กลางเดือนตุลาคม แต่ปีนี้อาจจะเริ่มช้าสักหน่อย ฤดูหนาวก็นำความแห้งแล้งมาสู่บ้านเรา ในหลายๆ พื้นที่ที่เพิ่งประสบปัญหาอุทกภัยไปหมาดๆ แถมไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำด้วยแล้ว พื้นที่เหล่านั้นก็จะเผชิญปัญหาภัยแล้งขึ้นมาทันทีหลังน้ำลดเรียกว่าความควายเข้ามาแทนที่เลยไงล่ะ แล้วหน่วยงานที่รับเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชนจะนิ่งเฉยปล่อยให้พี่น้องประชาชนผจญกับความวัวและความควายไปตามยถากรรมอย่างนั้นหรือ ก็คงไม่ใช่แน่นอน…เพราะทราบมาว่ามีการเตรียมการล่วงหน้าเอาไว้แล้วดังนี้…
คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติหรือ กนช. เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นจึงมีการเห็นชอบ 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปถือปฏิบัติเพื่อป้องกันหรือบรรเทาปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ 1.คาดการณ์และป้องกันพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 2.สร้างความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรพร้อมปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 3.กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 4.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน 5.เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ 6.เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้น้ำ 7.สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ และ 8.ติดตามและประเมินผลการดำเนินการ
หากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องพร้อมใจกันขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่แล้วทั้งความวัวและความควายคงจะค่อยๆ หมดไปจากพี่น้องประชาชน ในทางกลับกันถ้าไม่ช่วยกันขับเคลื่อนทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องปฏิบัติด้วยแล้วอาจจะยิ่งกว่าความวัวไม่ทันหายความควายก็ดันมาแทรกแก่พวกท่านแน่นอน…
#ชีวิตจะยิ่งมีค่าเมื่อเต็มที่กับหน้าที่ตน
#ตรัยวาริน