สลิลธาราอารัญ
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” คือพระปฐมบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ จากวันนั้นเป็นต้นมา ตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปีที่ทรงครองราชย์ พระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงปฏิบัติ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดถึงพระราชปณิธานในการทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับปวงชนชาวไทยได้อย่างแท้จริง และเชื่อว่าคนไทยทุกคนต่างรู้สึกเหมือนกันว่า พระองค์เปรียบเสมือน “เทวดาเดินดิน” ของพวกเรานั่นเอง
เทวดาพระองค์นี้ดลบันดาลให้น้ำตกลงมาจากฟ้า สร้างความชุ่มเย็นให้ผืนดินที่แห้งแล้งแตกระแหง เกิดพืชพรรณสำหรับหล่อเลี้ยงชีวิต จากนั้นทรงพระราชทานแนวทางที่จะบริหารจัดการน้ำเหล่านั้น เพื่อนำมาใช้ได้พอเพียงต่อความต้องการ โดยการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในรูปแบบของเขื่อน ฝ่าย อ่างเก็บน้ำ เมื่อมีน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เกิดพืชพรรณ การเกษตร เกิดวิถีชุมชน ความเจริญรูปแบบต่างๆ และขยายเป็นเมือง และพระองค์ยังได้พระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยโครงการจากพระราชดำริต่างๆ อีกมากมาย เช่น แก้มลิง กังหันชัยพัฒนา เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นต้น
แนวพระราชดำริและโครงการต่างๆ ที่ทรงพระราชทานไว้เป็นที่รู้จักกันทั่วแผ่นดินไทยว่า “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งมีเนื้อหาที่กว้างใหญ่และลึกซึ้งยิ่งนัก หากจะเล่าโดยสรุปให้เห็นภาพได้ชัดเจนเพียงประโยคเดียวก็คือ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็ได้น้อมนำมาเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาตามหน้าที่ของตนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เองก็ได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำ มาจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ๒๐ ปี มีแนวปฏิบัติใน 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงในภาคการผลิต การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ทรัพยากรน้ำทั้งระบบ และการบริหารจัดการ โดยในการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ สทนช.ได้บูรณาการหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในพื้นที่ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ อาทิ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน เป็นต้น ทุกหน่วยงานต่างก็ดำเนินงานในภารกิจของตนโดยน้อมนำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การสืบสาน “ศาสตร์พระราชา” ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชน ต้องตั้งใจนำไปปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม และหมั่นพัฒนาตนเอง พัฒนางาน ทำงานในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองอย่างเต็มที่ โดยยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก
หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน สุดท้ายแล้วก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์คือคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนคนไทยทุกคน ดั่งพระราชปณิธานและพระปฐมบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ได้ทรงพระราชทานไว้ในวันแรกนั่นเอง