เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 คณะที่ 6.2 แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ชั้น 10 อาคารสำนักงานใหญ่ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้หน่วยรับงบประมาณ อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เพื่อวางแผนการใช้งบประมาณที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่ามากที่สุด เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ โดยในวันนี้ เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 การดำเนินงานตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 รวมทั้งเห็นชอบ (ร่าง) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ที่ดำเนินการโดย 18 หน่วยงาน 6 กระทรวง จำนวน 14,036 รายการ วงเงินกว่า 244,700 ล้านบาท
“การประชุมในวันนี้ จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานบูรณาการวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยต้องจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดเป็นแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน และให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด สามารถแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค น้ำท่วม – น้ำแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำในเชิงพื้นที่ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ได้ครบทุกมิติ ตามเป้าหมายของรัฐบาลในการยกระดับการบริหารจัดการน้ำ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับศักยภาพของลุ่มน้ำ ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สทนช. ได้วิเคราะห์กลั่นกรองแผนงาน/โครงการที่มีความพร้อม จำนวน 53,969 รายการ วงเงินกว่า 420,800 ล้านบาท ซึ่งผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุม กนช. เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อนำมาสู่การพิจารณาแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 โดยใช้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกรอบการจัดทำแผนงาน โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ที่มีเป้าหมายร่วมและเป็นการทำงานร่วมกันมากกว่า 1 หน่วยงาน โดยลักษณะการบูรณาการพิจารณาใน 2 รูปแบบ คือ 1) การบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area Based) เป็นแผนงานโครงการที่แก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบในพื้นที่ 22 ลุ่มน้ำ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5 ด้าน และ 2) การบูรณาการงาน (Project Based) เป็นแผนงานโครงการที่มีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย กิจกรรม ผู้รับผิดชอบ และกรอบเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน
“ในส่วน (ร่าง) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ที่ดำเนินการโดย 18 หน่วยงาน 6 กระทรวง จำนวน 14,036 รายการ วงเงินกว่า 244,700 ล้านบาท นั้น ที่ประชุมได้พิจารณาจัดกลุ่มแผนงานและลำดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์การพิจารณาและสอดคล้องกับเป้าหมายตามแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี เพื่อเพิ่มความจุกักเก็บน้ำ 1,036.01 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 3,327,334 ไร่ พื้นที่ได้รับการป้องกัน 2,325,109 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 1,955,613 ครัวเรือน ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานส่งคำขอตั้งงบประมาณ เหตุผลความจำเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ให้สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 31 มกราคมนี้ ตามปฏิทินงบประมาณ ต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
27 มกราคม 2568























