สลิลธาราอารัญ
ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญความท้าทายในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และการท่องเที่ยว ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่

ในเรื่องนี้ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization หรือ FAO) คาดการณ์ว่า สถานการณ์ข้างต้นอาจส่งผลให้หลายพื้นที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนน้ำในอนาคต อันเนื่องมาจากการจัดสรรทรัพยากรน้ำที่ยังไม่เป็นระบบและไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่มีอยู่ หรือมีการจัดสรรน้ำอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ปัญหาการขาดแคลนน้ำก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
FAO จึงได้พัฒนาแนวคิด “Water Tenure” หรือ รูปแบบการถือครองทรัพยากรน้ำเพื่อวิเคราะห์รูปแบบการใช้น้ำอย่างเป็นระบบ โดยเน้นการพิจารณากิจกรรมการใช้น้ำในทุกมิติ ทั้งที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและกิจกรรมที่อาจถูกมองข้าม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรน้ำอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ใช้น้ำในพื้นที่ การดำเนินการภายใต้โครงการ ScaleWat ได้คัดเลือกประเทศที่เป็นพื้นที่นำร่อง 2 ประเทศจาก 2 ภูมิภาค ได้แก่ ประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศโคลอมเบียในภูมิภาคลาตินอเมริกา ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนี

สำหรับประเทศไทยได้เลือก ลุ่มน้ำประแสร์ เป็นพื้นที่ศึกษา เนื่องจากเป็นลุ่มน้ำย่อยในลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่มีการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญทางเศรษฐกิจรองรับการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายในพื้นที่จังหวัดระยอง รวมถึงสนับสนุนน้ำสำหรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการน้ำในลักษณะของ อ่างพวง ที่จะต้องเชื่อมโยงกับแหล่งน้ำอื่นๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และแหล่งน้ำอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันน้ำในลุ่มน้ำประแสร์มีปริมาณจำกัดอยู่แล้ว และมีแนวโน้มว่าจะมีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคตได้
ถึงแม้ว่า ประเทศไทยจะได้กำหนดลำดับความสำคัญการใช้น้ำออกเป็น 9 ลำดับ ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบแล้ว แต่ก็อาจจะยังมีกิจกรรมการใช้น้ำบางประเด็นที่ถูกมองข้าม มีช่องว่างและจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงหรือทบทวนอีกครั้ง โครงการนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยระบุช่องว่างและโอกาสในการปรับปรุง รูปแบบการใช้น้ำและจัดสรรทรัพยากรน้ำโดยอาศัยหลักการทางวิชาการของ FAO ผสานกับข้อมูลเชิงพื้นที่ของลุ่มน้ำ

ประแสร์ ผ่านการกระบวนการเก็บข้อมูล ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งด้านวิชาการที่ผสานกับความรู้ความเข้าใจเชิงพื้นที่ โดยทุกขั้นตอนกำหนดให้มีการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้ครอบคลุมการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ นำไปสู่แนวทางในการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำประแสร์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด โดยการศึกษาในครั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2569
หากผลการศึกษากรณีนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาการจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำประแสร์ได้ จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะขยายผลไปสู่การปรับปรุงกระบวนการจัดสรรน้ำในพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต รวมทั้งการกำหนดมาตรการหรือนโยบายเพื่อให้การจัดสรรน้ำเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพในระยะยาว นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่อไป
