รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช
พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชาเดินหน้าแผนแม่บทน้ำ 20 ปี
รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ เดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช มอบ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักน้อมนำศาสตร์พระราชาเป็นแนวทางการดำเนินแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี หลังที่ประชุม กนช. เห็นชอบ
วันนี้ (26 ธันวาคม 2561) พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช และร่วมเป็นสักขีพยานในการมอบค่าชดเชยให้กับประชาชน จำนวน 9 ราย โดยมี นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ ณ บริเวณโรงเรียนบ้านท่าเรือมิตรภาพที่ 30 ต.ท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช หลังจากนั้นลงพื้นที่บริเวณโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองท่าเรือ-หัวตรุด กิโลเมตรที่ 9+200 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการ
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหนึ่งโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรม เนื่องจาก จ.นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก จากสภาพภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นที่ราบและที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลขนาดกว้างฝั่งอ่าวไทย มีลำน้ำธรรมชาติซึ่งเกิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราชไหลผ่านตัวเมืองอยู่หลายสาย เมื่อเกิดฝนตกหนักบริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราช ทำให้เกิดน้ำท่าในคลองต่าง ๆ เป็นปริมาณมากและไหลผ่านตัวเมืองถึง 750 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ในขณะที่ศักยภาพของคลองสามารถระบายน้ำได้เพียง 268 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำระบายลงสู่ทะเลไม่ทัน จึงเกิดน้ำไหลบ่าท่วมตัวเมืองเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2531 ที่หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ถูกน้ำท่วม สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก บ้านเรือน ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร ซึ่ง จ.นครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการบรรเทาอุทกภัยและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายให้แก่กรมชลประทานและสำนักงาน กปร. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ณ อาคารชัยพัฒนา เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขป้องกันไม่ให้พื้นที่เหล่านั้นและบริเวณข้างเคียงต้องได้รับความเสียหายอีกต่อไป
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช สทนช.ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มาใช้กำหนดแนวทางแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ โดยดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) ผลการศึกษาพบว่า จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ที่ต้องแก้ไขปัญหาอุทกภัย จำนวน 94 ตำบล 11 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่ 0.533 ล้านไร่ โดยดำเนินการขุดคลองผันน้ำใหม่ จำนวน 3 สาย ปรับปรุงคลองระบายน้ำเดิม 2 สาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้น พร้อมทั้งการก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 7 แห่ง เพื่อกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำเค็มหนุนในช่วงฤดูแล้ง งบประมาณ 9,580 ล้านบาท ระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ.2561-2566) โดยแบ่งเป็น คลองผันน้ำสาย 1 ขุดคลองผันน้ำจากคลองท่าดี เชื่อมคลองวังวัว ยาว 5.5 กิโลเมตร (กม.) คลองผันน้ำสาย 2 ขุดคลองผันน้ำจากคลองหยวด เชื่อมคลองผันน้ำสาย 1 ยาว 0.79 กม. คลองผันน้ำสาย 3 ขุดคลองผันน้ำจากคลองหัวตรุดไปออกทะเล ยาว 12.35 กม. เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำไหลผ่านเมือง และการผันน้ำก่อนเข้าเมือง ทำให้สามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าดี คลองหยวด ซึ่งครอบคลุมเขตชุมชนเมืองนครศรีธรรมราชและพื้นที่ข้างเคียง ทำให้สามารถลดปริมาณน้ำได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และสามารถเก็บกักน้ำไว้ในคลองระบายน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้ง 5.5 ล้าน ลบ.ม. สำหรับทำการเกษตรและอุปโภค-บริโภค มีพื้นที่รับประโยชน์ 17,400 ไร่ โดยในปี 2560 ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำคลองหัวตรุด ในระยะแรก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจปักหลักเขตคลองผันน้ำ
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความก้าวหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ภาคใต้ 111 แห่ง อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช 30 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 18 แห่ง ที่เหลือ 12 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 6 แห่ง และอยู่ในแผนงานของกรมชลประทานอีก 6 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี (เมื่อคราวเดินทางลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2561) ที่มีความห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่ จึงมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วที่สุด
ในส่วนของความก้าวหน้าของการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2561 มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561- 2580)เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยการดำเนินการต่อจากนี้ สทนช. จะได้นำเสนอร่างแผนแม่บทฯน้ำต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ และประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป โดยจะต้องร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ จัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในระดับลุ่มน้ำในช่วงปี 2562-2565 ทั้งนี้ แผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ที่จัดทำขึ้นนี้มีความสอดรับและครอบคลุมกับแผนหลักของประเทศ ประกอบด้วย แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรน้ำ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่ง สทนช.ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักด้านการบริหารจัดการน้ำพร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกกิจกรรม เพื่อคุณภาพชีวิต และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
……………………………….…………….……………………………….…………….……………………………….…………….
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
26 ธันวาคม 2561