สทนช. คาด “โพดุล”–“คาจิกิ” เติมน้ำ 7 พันล้าน
พร้อมประเมิน 18 จว.เสี่ยงท่วม 7 จังหวัดเสี่ยงแล้ง
สทนช. ชี้อิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล”–“คาจิกิ” ฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลน้ำไหลเข้าอ่างฯเพิ่ม 7 พันล้าน ลบ.ม. ช่วยเติมน้ำให้อ่างฯน้ำน้อย พ้นวิกฤติ ย้ำหน่วยงานเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงท่วม 18 จังหวัด พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมเพื่อสำรองน้ำต้นทุนแล้งหน้า ด้าน เลขาฯ สทนช.เล็งเชิญ กษ. มท.และผู้ว่าฯ ภาคเหนือ 17 จว. หารือ 6 ก.ย.นี้ หลังนายกฯ ไฟเขียวหนุนโครงการแก้วิกฤติท่วมแล้งให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
วันนี้ (4ก.ย.62) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการติดตามนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลกและสุโขทัย ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีพายุที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยถึง 2 ลูก คือ พายุโซนร้อน“โพดุล”ที่ส่งผลกระทบโดยตรง ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. – 1 ก.ย. 62 ขณะที่พายุ “คาจิกิ” ซึ่งขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าได้อ่อนกำลังลงจากพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณทะเลจีนใต้ แต่ก็คาดว่าจะส่งผลให้ประเทศไทยบริเวณด้านตะวันออกของภาคอีสาน และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมาก
จากสถานการณ์ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุทั้ง 2 ลูกดังกล่าว ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แหล่งน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 12 แห่ง ที่มีน้ำน้อยกว่า 30% มีแนวโน้มพ้นวิกฤติในเร็วๆ นี้ อาทิ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นต้น หลังจากที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ได้พ้นวิกฤติน้ำน้อยไปแล้วเมื่อวานนี้ (3 ก.ย.62) ซึ่ง สทนช. คาดการณ์ไว้ว่า ระหว่างวันที่ 29 ส.ค.–7 ก.ย. 62 จะมีน้ำไหลลงสู่แหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางเพิ่มขึ้นกว่า 7,000 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ภาคเหนือ 1,890 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,760 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 220 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 1,800 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 200 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 270 ล้าน ลบ.ม. จากสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศปัจจุบัน พบว่า มีปริมาณรวมอยู่ที่ 47,486 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58% แบ่งเป็น ภาคเหนือ 1,1906 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6,307 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 1,350 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 22,545 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 449 ล้าน ลบ.ม. ภาคใต้ 4,824 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม สทนช.ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบแหล่งน้ำทุกขนาดลดการระบายน้ำ ซึ่งนอกจากจะลดผลกระทบให้แก่พื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกสะสมมากแล้ว ยังเป็นการเร่งเก็บกักน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ยกเว้นกรณีแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ มากและมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำล้นได้ จึงต้องมีการระบายน้ำเพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคงของตัวอ่างฯ ซึ่ง สทนช.โดยศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจฯ ได้มีการประสานแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานรับผิดชอบแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่ให้เร่งประชาสัมพันธ์ และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำ ก่อนดำเนินการเร่งระบายน้ำเพื่อให้บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในระดับเกณฑ์ควบคุม โดยขณะนี้พบว่ามี 4 แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับเก็บกักสูงสุด (Upper Rule curve) และมีระดับน้ำในอ่างฯ มากกว่า 80% คือ หนองหาร จ.สกลนคร เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงยังได้วิเคราะห์พื้นที่ที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลจากพายุ “คาจิกิ” ที่จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำหลายสาย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและเสี่ยงเกิดน้ำล้นตลิ่ง พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมใน 18 จังหวัด ได้แก่ น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อุดรธานี สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ตามที่ สทนช. โดยศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ ได้ออกประกาศให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักที่มีความเสี่ยงจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องทั้งแม่น้ำยม แม่น้ำชี ลำน้ำยัง ลำเซบาย แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตามเฝ้าสถานการณ์น้ำ และพิจารณาความเหมาะสมในการปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำหลาก โดยไม่ให้กระทบกับบ้านเรือนของประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตรบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำด้วยแล้ว
“แม้ว่าหลายพื้นที่ของประเทศขณะนี้ประสบปัญหาน้ำท่วมและฝนตกต่อเนื่อง แต่ สทนช.ยังได้ประเมินพบว่า มี 7 จังหวัดที่ยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง รวมถึงแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ได้แก่ จ.ลำพูน ตาก อุทัยธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ซึ่งศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ ได้ประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในอ่างฯ และบรรเทาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงในพื้นที่เสี่ยงด้วย พร้อมแจ้งหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้วยเช่นกัน ซึ่งในการลงพื้นที่ภาคเหนือครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ สทนช.บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย พิจารณาแนวทางการจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากอุทกภัยและภัยแล้งเป็นการเร่งด่วน ซึ่งสทนช.จะเชิญผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการ 17 จังหวัดภาคเหนือประชุมหารือในวันศุกร์ที่ 6 กันยายนนี้ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลางในการบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนได้ทันสถานการณ์ต่อไป” นายสมเกียรติ กล่าว
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
4 กันยายน 2562