“บิ๊กป้อม” พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ มอบนโยบาย สทนช.
จัดตั้งวอร์รูม เร่งระดมทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ช่วยเหลือประชาชน
พร้อมวางแผนแก้ปัญหาน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
วันนี้ (9 กันยายน 2562) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมน้ำปิง สำนักงานทรัพยาการน้ำแห่งชาติ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติราชการของรัฐบาลและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยมีนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สทนช. ร่วมรับฟังนโยบาย
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ซึ่งรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศไทย โดยการแก้ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21”
ในโอกาสนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวมอบนโยบายการดำเนินงานของ สทนช. ใน 7 ด้าน ได้แก่
1.ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำ ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ (ใหม่) ผ่านสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 – 4
2.ขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ไปสู่แผนแม่บทลุ่มน้ำและแผนการปฏิบัติในระดับลุ่มน้ำ
3.ติดตามและประเมินผลแผนงาน โครงการ และงบประมาณ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากหน่วยงานปฏิบัติด้านน้ำทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 40 หน่วยงาน
4.อำนวยการ กำกับ ขับเคลื่อนโครงการสำคัญระดับชาติ หรือโครงการเร่งด่วนที่ต้องมีการประสานงานกับหลายหน่วยงาน
5.กำกับ ดูแล การบริหารจัดการระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ
6.ส่งเสริม สนับสนุนให้ภาคเอกชน ประชาชน และชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ พัฒนา บริหารจัดการ บำรุงรักษา ฟื้นฟู อนุรักษ์ และการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ
7.ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ มาใช้ในการพัฒนาและบริหารทรัพยากรน้ำ
การดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ที่ได้กล่าวมาให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติน้อมนำ “หลักราชการ” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ซึ่งเป็นหลักคุณธรรมและจริยธรรมในวิชาชีพข้าราชการที่สำคัญยิ่งมาเป็นที่พึ่ง โดยยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ 10 ประการ
นอกจากนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความห่วงใยในสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยได้ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (7 กันยายน 2562) และได้กำชับให้ สทนช. เป็นที่พึ่งให้กับประชาชน เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่จากอิทธิพลพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” โดยขอให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งวอร์รูมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยวางแผนระบายน้ำ แจ้งเตือนพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบล่วงหน้า ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารบังคับน้ำที่มีอยู่ให้สามารถใช้การได้ตามปกติตลอดจนใช้อาคารบังคับน้ำที่มีอยู่ บริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น จัดจราจรน้ำ หน่วงน้ำ ผันน้ำเพื่อเลี่ยงพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ชุมชน นอกจากนั้นให้พิจารณาใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ แก้มลิง และพื้นที่เกษตรที่เก็บเกี่ยวแล้วเป็นพื้นที่รับน้ำ หน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่าง รวมทั้งการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบอย่างต่อเนื่อง
โดยมีมาตรการการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนและฤดูแล้ง ปี 62/63 ดังนี้ :
1. มอบกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สถาบันสารสนเทศน้ำเพื่อการเกษตร (องค์การมหาชน) ตรวจสอบสภาพเขื่อน ฝาย อาคารชลประทาน ฯลฯ ระบบการระบายน้ำ สถานีโทรมาตร เพื่อติดตามเฝ้าระวัง
2. มอบกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำฝนหลวง เพื่อเร่งเก็บกักน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในฤดูแล้งถัดไป และให้มีการตั้งศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ โดย สทนช. เพื่อบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปีถัดไปด้วย
3. มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจแหล่งน้ำที่ผ่านมาในปี 2561 มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ (เพื่อดำเนินการเชิงป้องกันความเสี่ยงอุทกภัย) พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำหลาก สำหรับเตรียมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้และแผนการป้องกัน รับมือ และเผชิญเหตุอุทกภัย
4. มอบทุกหน่วยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำ สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และการแจ้งเตือนล่วงหน้าพร้อมแนวทางการปฏิบัติ
5. เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ และปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ให้แล้วเสร็จโดยด่วน
6. มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจแม่น้ำ คูคลอง และดำเนินการขุดลอกผักตบชวา ตลอดจนขยะ เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคกีดขวางการระบายน้ำ ในช่วงฤดูน้ำหลาก
7. การปรับแผนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และ ปริมาณน้ำต้นทุน (กรมส่งเสริมการเกษตร)
8. การสนับสนุนทางการคลัง โดยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ การเช่าพื้นที่รับน้ำหลาก และการชดเชยกรณีได้รับความเสียหายจากน้ำ (หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)
ในส่วนของแผนงานระยะยาว มอบหมายให้ สทนช.เร่งแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) ใน 66 พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นประจำ โดยเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหา แผนงานโครงการสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อไป
สำหรับการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ไปสู่แผนแม่บทลุ่มน้ำและแผนการปฏิบัติในระดับลุ่มน้ำ ขอให้ สทนช. เร่งดำเนินการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำและแผนการปฏิบัติในระดับลุ่มน้ำให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในระดับพื้นที่อย่างแท้จริง ส่วนการติดตามและประเมินผลแผนงาน โครงการ และงบประมาณในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากหน่วยงานปฏิบัติด้านน้ำทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ที่ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 40 หน่วยงาน มอบให้ สทนช. เน้นการจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการที่พร้อมสามารถดำเนินการได้ก่อน เพื่อเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
————————————————————–
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
9 กันยายน 2562