วันนี้ (19 มีนาคม 2563) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2563 โดยมี นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. พร้อมผู้แทนหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ทั้ง 4 ด้าน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สทนช. ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายสภาพอากาศช่วงระหว่างวันที่ 20-24 มี.ค. 63 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก มีฝนตกร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ทั้งนี้ เนื่องจากยังมีบางพื้นที่อาจมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ โดยเฉพาะที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ อาจได้รับผลกระทบไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ที่ประชุมวันนี้ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย และฝ่ายความมั่นคง ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเส้นทางลำเลียงน้ำที่ปล่อยจากเขื่อน ให้สามารถควบคุมไปถึงสถานีผลิตน้ำประปา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำในการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ภาคตะวันออก วานนี้ (18 มีนาคม 2563) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและติดตามมาตรการการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำโดยการเติมน้ำด้วยระบบโครงข่ายน้ำ ทั้งจากปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกด จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง ที่จะนำน้ำจาก จ.จันทบุรีผ่านระบบคลองและระบบสูบน้ำ ส่งไปที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง จำนวน 10 ล้าน ลบ.ม. ระหว่างวันที่ 1 – 25 มีนาคม 2563 ผลการดำเนินการปัจจุบันคิดเป็นปริมาณน้ำ 7 ล้าน ลบ.ม. ส่วนพื้นที่ จ.ชลบุรี โดยได้กำหนดมาตรการบริหารจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรฯ จ.ชลบุรี มาตรการในการสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง ในช่วงที่มีความเค็มไม่มากนัก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยมอบหมายให้กรมชลประทานประเมินช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดึงน้ำจากแม่น้ำบางปะกงมาใช้ได้ก่อน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยการหาน้ำจากขุมเหมืองเอกชนมาใช้ 15-18 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีขุมเหมืองเอกชนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในขณะนี้สามารถดึงน้ำมาแล้ว 10 กว่าล้าน ลบ.ม. และจะมีการเจรจาผู้ประกอบการขุมเหมืองเพิ่มเติมอีก 1 ราย ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมยังได้ให้ความร่วมมือในการลดการใช้น้ำลง 10% ช่วยสร้างความสมดุลในการใช้น้ำ ทั้งนี้ จากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออก ทำให้สถานการณ์น้ำในปีนี้ไม่น่าห่วงมากนัก