เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 เวลา 09.00 น. ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมพิจารณา (ร่าง) ขอบเขตงานสำหรับการหารือระดับประเทศเรื่องน้ำในประเทศไทย โดยมี นายทศพล วงศ์วาร ผู้ช่วยเลขาธิการ สทนช. และ ผู้แทนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน ผู้แทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อม VDO Conference ไปยัง รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (East Water) และสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อรับทราบวิสัยทัศน์และความเป็นมาของการจัดทำขอบเขตงานสำหรับการหารือระดับประเทศเรื่องน้ำในประเทศไทย รวมทั้งพิจารณา (ร่าง) ขอบเขตงานสำหรับการหารือระดับประเทศเรื่องน้ำในประเทศไทย ((Draft) TOR for a National Policy Dialogue on Water Thailand) ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สทนช. ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯประธานในที่ประชุมกล่าวว่า สืบเนื่องจาก สทนช. เป็นสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย หรือ Asia Water Council (AWC) เป็นองค์กรด้านน้ำระดับภูมิภาคเอเชีย และเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งเน้นการส่งเสริมการเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานด้านน้ำ ด้วยการสร้างเครือข่ายกับองค์การน้ำระดับโลก ซึ่ง AWC มีความร่วมมือทางวิชาการกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (MoE) ส่งหนังสือเสนอความร่วมมือในการศึกษาเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ในรูปแบบการหารือระดับประเทศด้านน้ำในประเทศไทย ที่เป็นความร่วมมือของ 3 องค์กร คือ AWC OECD และ MoE ในการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายว่าด้วยเรื่องน้ำในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย และส่งเสริมแนวทางการปฏิบัติระหว่างประเทศที่ดี ซึ่ง สทนช. ได้พิจารณาเห็นถึงความสำคัญในการต่อยอดการศึกษาวิจัยเพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำของประเทศ แต่การศึกษาดังกล่าวเป็นเรื่องของการศึกษาในเชิงนโยบายที่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของแต่ละหน่วยงาน ความคุ้มค่าในความร่วมมือ รวมทั้งขอบเขตการศึกษาที่อาจกระทบต่อระเบียบปฏิบัติของประเทศ โดย สทนช. ได้จัดทำ ร่าง (TOR) ขอบเขตงานสำหรับการหารือระดับประเทศเรื่องน้ำในประเทศไทย โดยมีกรอบระยะเวลาการศึกษา 1 ปี และมีขอบเขตการศึกษาใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำ ซึ่งจะรวมถึงการมุ่งเน้นในเรื่องของการออกแบบเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ค่าน้ำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและมีส่วนช่วยในการออกแบบระบบการจัดสรรน้ำในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้ดีขึ้น และ 2.มาตรการและกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการจัดการน้ำและสุขาภิบาล ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงการจัดเก็บภาษี และภาษีสำหรับบริการน้ำประปาและสุขาภิบาล โดยการประสานกับระดับนโยบายและสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบสาธารณูปโภคและกฎระเบียบทางเศรษฐกิจ โดยในวันนี้ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์สูงที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยด้านน้ำ ผู้แทนหน่วยงานการศึกษาและหน่วยงานที่มีมาตรฐานในการทำวิจัย รวมทั้งผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีความรู้ในระดับนโยบายระหว่างประเทศ มาร่วมให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นต่อร่างขอบเขตงานสำหรับการหารือดังกล่าว เพื่อให้ TOR มีความครบถ้วนสมบูรณ์และเกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด และถือเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะได้เรียนรู้ประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำจากประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับระบบการบริหารจัดการน้ำให้ทัดเทียมในระดับนานาชาติ และสามารถกำหนดกรอบนโยบาย หลักเกณฑ์การคิดค่าน้ำที่เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เพื่อจูงใจให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนภายในประเทศไทยด้วย และหลังจากนี้ สทนช. นำผลการประชุมและความก้าวหน้าในการจัดทำ TOR รายงานต่อรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ทราบและขอความเห็นชอบในการดำเนินโครงการฯ ต่อไป